ปลัดคลัง เผยเตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาใช้ VAT 7% ออกไปอีก 1 ปีจากสิ้น ก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 19, 2017 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาขยายเวลาการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสะดุด

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นำเสนอรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน โดยมีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษี VAT จากปัจจุบันอีก 1% นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอเดิมที่อยู่ในแผนการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าการจัดเก็บภาษี VAT ของไทยที่อัตรา 7% ถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาปรับขึ้นภาษี VAT จะต้องไม่ให้กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มองว่าฐานะการคลังของไทยในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษี VAT ขณะเดียวกันการดำเนินการของกระทรวงการคลังที่ผลักดันให้มีการใช้ระบบอีเพย์เม้นท์กันมากขึ้นนั้น หากโครงการดังกล่าวสามารถทำได้มีประสิทธิภาพเต็มที่ก็จะช่วยให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกราว 1 แสนล้านบาท

"การปรับขึ้นภาษี VAT คงต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจด้วย เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวได้ดี โดยไตรมาสแรกปีนี้ GDP โต 3.3% แต่หากมีการปรับขึ้น VAT ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้...ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นภาษี ทั้งในแง่เหตุผลด้านเศรษฐกิจ และรายได้รัฐ" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลังได้ตั้งทีมงานปฏิรูปกฎหมายประมวลรัษฎากรทั้งฉบับ โดยจะมีการพิจารณาการปฎิรูปภาษีทุกตัว รวมทั้งจะนำข้อเสนอของ สนช.มาพิจารณาด้วย ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม, การเก็บภาษีลาภลอย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่เก็บจากผลประโยชน์จากโครงการของรัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้า, รถไฟ และการสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ