นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของไทย เปิดเผยว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายทีมไทยทำงานเจรจาเชิงรุกร่วมกับสมาชิกอาเซียนเร่งจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วและหวังผลขยายตลาดสินค้าไทยทั่วภูมิภาค
โดยได้มอบหมายให้นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.60 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จะทำให้การเจรจาสำเร็จได้ตามเป้าหมายโดยเร็ว และคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee: TNC) จะได้นำนโยบายที่ได้จากการประชุมฯ ไปหารือด้านเทคนิคในการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 19 ณ เมืองไฮเดอราบัต สาธารณรัฐอินเดีย ในช่วงเดือนก.ค.ต่อไป
นายรณรงค์ กล่าวถึงผลการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ค.60 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าการเจรจารอบมะนิลามีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยล่าสุดประเทศสมาชิกได้มีการยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมทั้งสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เกษตร และสินค้าอาหารแปรรูป เช่น ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก สิ่งทอ อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ปลาปรุงแต่ง น้ำตาลจากอ้อย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้กระป๋อง สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม เป็นต้น
ส่วนการค้าบริการและการลงทุน มีการยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดและเงื่อนไขด้านกฎหมาย เช่น การลงทุนด้านการผลิต คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม ขนส่ง ก่อสร้าง สุขภาพ การสื่อสาร ค้าส่งค้าปลีก ท่องเที่ยวและพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งได้เริ่มมีการเจรจาบทการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ซึ่งครอบคลุมการเดินทางของนักธุรกิจ นักลงทุน และวิชาชีพต่างๆ ทั้งนี้ กระบวนการเจรจาดังกล่าวถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้สมาชิกร่วมกันประเมินระดับการเปิดเสรีของความตกลง RCEP เพื่อมุ่งไปสู่ขั้นตอนการเจรจาที่เข้มข้นมากขึ้น
"RCEP มิได้เป็นเพียงการเปิดตลาดด้านสินค้า บริการ และการลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีข้อตกลงในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าด้วย โดยที่ผ่านมามีการเจรจาในประเด็นต่างๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม 2 คณะ คือ คณะทำงานย่อยด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า และคณะทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ" รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
พร้อมระบุว่า ไทยเล็งเห็นประโยชน์ในการขยายตลาดสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิกที่ปัจจุบันหลายประเทศยังมีกำแพงภาษีสูง โดยประเทศสมาชิก RCEP ต้องลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันกำแพงภาษีในบางประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตร และหากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดดังกล่าวด้วยอัตราภาษีที่ต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสการขยายตลาดให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป
อีกทั้งการเจรจาความตกลง RCEP ยังเป็นความคาดหวังของสมาชิกในการขยายการค้าและการลงทุนทั้งในภูมิภาคสมาชิก RCEP และในประเทศคู่ค้าที่สำคัญกับสมาชิก RCEP ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าในหลายประเทศ ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตน