สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เผยผลสำรวจดัชนีความเครียดของคนไทยในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ในภาพรวมประชาชนมีความเครียดน้อย โดยมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.26 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มจาก 2.18 ในการสำรวจเมื่อครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนมกราคม ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่ 70.59% จะรู้สึกเบื่อหน่าย รองลงมา 62.86% ไม่มีความสุขเลย ตามด้วย 49.46% รู้สึกหมดกำลังใจ และ 41.82% ไม่อยากพบปะผู้คน
เรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับราคาสินค้าแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นต้น รองลงมา คือ เรื่องการเรียน โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับผลการเรียน การศึกษาต่อ และเนื้อหาการเรียน เป็นต้น อีกด้านหนึ่งที่ประชาชนมีความเครียดสูง คือ เรื่องการงาน โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับสวัสดิการและค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพ และปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นต้น
ขณะที่คนในต่างจังหวัดมีความเครียดสูงกว่าคนในกรุงเทพฯ โดยคนต่างจังหวัดมีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องการงาน ตามลำดับ ส่วนคนในกรุงเทพฯ มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ
"ผลการสำรวจครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการสำรวจในครั้งที่แล้ว (มกราคม 2560) ที่คนในต่างจังหวัดมีความเครียดสูงกว่าคนในกรุงเทพฯ รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในครั้งนี้จะเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพงและปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประชาชนเกิดความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยประชาชนในกลุ่ม Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดมากที่สุด รองลงมา คือ Gen M (อายุ 19-24 ปี) ส่วนกลุ่มที่มีความเครียดน้อยที่สุด คือ ประชาชนในกลุ่ม Gen X (อายุ 36-50 ปี) โดยกลุ่ม Gen Z (อายุ 15-18 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องความรัก และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ, Gen M (อายุ 19-24 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ, Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ, Gen X (อายุ 36-50 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องความรักกับสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ และ Gen B (อายุ 51-69 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องความรัก ตามลำดับ
ทั้งนี้ เอยูโพล ได้จัดวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,006 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18 เมษายน–15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา