นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2560 ขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2559 ส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ปรับตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปี 2560 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสหกิจไตรมาส 2/2560 ให้ขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากที่ไตรมาส 1/2560 ขยายตัวได้ 17%
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2560 ขยายตัว 3.3% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2559 ที่ขยายตัว 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูงถึง 17%
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ซึ่งเป็นเครื่องชี้การลงทุนรัฐวิสาหกิจในเดือนเม.ย.60 เท่ากับ 18,425 ล้านบาท ขยายตัว 32% ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2560 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมถึงเดือนเม.ย.60 (ต.ค.59-เม.ย.60) เท่ากับ 82,014 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณเบิกจ่ายได้ 43,850 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม และรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีปฏิทินเบิกจ่ายได้ 38,164 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุน
โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การประปาส่วนภูมิภาค, การเคหะแห่งชาติ, การประปานครหลวง, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวงและ บมจ. กสท โทรคมนาคม
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า นายสมคิด ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างมาก จึงขอให้ผู้บริหารและกรรมการของรัฐวิสาหกิจกำกับติดตามและเร่งรัดรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของแผนการลงทุนรายปี และสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน ขอให้ปรับปรุงแผนการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือให้ครอบคลุมยอดเบิกจ่ายที่ขาดไปด้วย
นอกจากนี้ ขอให้รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ช่วยยกระดับทักษะและฝีมือแรงงานของประเทศ เช่น การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานของประเทศ เช่น การพัฒนาทักษะนักศึกษาผ่านการจ้างงานในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป