รมช.เกษตร ลงพื้นที่จ.นครราชสีมา ติดตามการดำเนินงานข้าวครบวงจร-นาแปลงใหญ่-เกษตรอินทรีย์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 19, 2017 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ จ.นครราชสีมา ว่า ได้ประชุมติดตามการดำเนินงานในเรื่องข้าวครบวงจร นาแปลงใหญ่ และเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อรับทราบรายงานการปฏิบัติการผลิตข้าวครบวงจรและนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงแผนการดำเนินงาน ซึ่งการดำเนินการนาแปลงใหญ่จะทำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ โดยกำหนดเกณฑ์การเข้าร่วมการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 30 ราย มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป มีการแบ่งหน้าที่ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ศัตรูพืช (อารักขาพืช) และด้านเครื่องจักรกลการเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศ เรื่อง การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2560/61 รอบที่ 1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 โดยมีพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวของ จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายรวม 3,651,020 ไร่ แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ 2,891,460 ไร่ ข้าวหอมปทุม พื้นที่ 2,698 ไร่ ข้าวเจ้า 638,062 ไร่ ข้าวเหนียว พื้นที่ 117,149 ไร่ และข้าวสี พื้นที่ 1,651 ไร่

นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้และช่วยเหลือทั้งในเรื่องปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งในเรื่องของแหล่งน้ำ และหากเกษตรมีปัญหาอุปสรรคในการทำนาแปลงใหญ่ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งมีการติดตามผลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพดี โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ความรู้และสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายให้ใช้ตลาดนำการผลิต โดยบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการเชื่อมโยงการตลาด มีการจัดประชุมพบปะระหว่างกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ได้แก่ เกษตรตำบล/อำเภอ/จังหวัด สหกรณ์การเกษตร พาณิชย์จังหวัด ธ.ก.ส. โรงสี โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออกข้าว ให้มีการผลิตตรงตามความต้องการของตลาด (Demand-driven) และรับซื้อผลผลิตข้าวคุณภาพดีจากนาแปลงใหญ่ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ