นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยหลังจากนำสื่อมวลดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ - บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ว่ากรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้ขยายจากชลบุรี ไปถึงพัทยา ระยะทาง 42 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ว่าด้วยการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ
ปัจจุบันกรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษทั้ง 3 เส้นทาง และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด เป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริเวณ กม. 34+400 ระยะทางรวม 32 กม. ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษ ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้างประมาณ4ปี สำหรับงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 13 สัญญา ได้ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วทั้งหมด มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 32 (ณ เดือนเมษายน 2560) ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านชั่งน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2560 -2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า สำหรับความพิเศษโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ - บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ว่าเพื่อให้ได้ทางที่มีคุณภาพ มีความเรียบกรมทางหลวงได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบโดยติดตั้งเครื่องวัดความขรุขระของผิวด้วยเลเซอร์ (Laser Profilometer) ซึ่งใช้วัดดัชนีความเรียบขรุขระสากล (International Roughness Index, IRI) หากเป็นถนนคอนกรีตต้องมีค่าต่ำกว่า 2.5 และถนนแอสฟัลต์ต้องมีค่าต่ำกว่า 2.0 จึงตรวจรับงาน อันเป็นไปตามมาตรฐานสากล และคำแนะนำของธนาคารโลก (World Bank) ในความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ควบคุมกลางพัทยา (Control Center Building, CCB) คาดว่าสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปลายปี 2560 นี้