"อนุสรณ์"ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 3 ปีหลังคสช.ยึดอำนาจ พร้อมคาดศก.ปีนี้โต 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 21, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช และภาวะเศรษฐกิจ ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี พ.ศ. 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6%

การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบันแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสามปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่อง แม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้

การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำ แม้กระเตื้องขึ้นและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้รัฐบาลมีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียนหรือการมียุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทยและยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน

ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช เข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม 2557 และรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกันยายน 2557

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก “ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย" ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ