นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 7 ณ กรุงเทพฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเจรจารอบนี้มีความคืบหน้าที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายใกล้จะหาข้อสรุปในการยกร่างข้อบท FTA ในส่วนของการค้าสินค้ากันได้แล้ว เหลือประเด็นทางเทคนิคอีกเล็กน้อย และในส่วนของการเปิดตลาดสินค้าของทั้งสองฝ่าย ไทยได้ผลักดันให้ปากีสถานเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไทยสนใจทำตลาดในปากีสถาน ขณะที่ปากีสถานสนใจให้ไทยเปิดตลาดสินค้าสิ่งทอ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ โดยปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพการเจรจาครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2560
นางอรมน กล่าวว่า การจัดทำ FTA ระหว่างไทย-ปากีสถาน เริ่มขึ้นเมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีการเจรจาแล้ว 7 รอบ โดยประเมินว่าผลการเจรจา FTA จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยปากีสถานถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถานเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน อีกทั้งยังมีนโยบายเปิดเสรีมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ต้องการส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ปากีสถานยังประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานและปัจจัยการผลิตบางอย่าง จึงมีความต้องการนำเข้าสินค้าที่สำคัญ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม อุปกรณ์ไฟฟ้า และเหล็ก การจัดทำ FTA ระหว่างสองประเทศจะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี และเพิ่มโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ตลอดจนนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะวัตถุดิบจากปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก ปากีสถานจึงถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับไทย ขณะที่ไทยก็เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนซึ่งจะเชื่อมโยงโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ปากีสถานได้
ในปี 2559 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38 ของไทยโดยทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1,134 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.8% โดยการส่งออกมีมูลค่า 1,015 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 11.19%) และการนำเข้ามีมูลค่า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 0.82%) ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,040 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.33% ต่อปี) และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ย 0.23% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปปากีสถาน เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และที่ไทยนำเข้าจากปากีสถาน เช่น เส้นด้าย เส้นใย สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์
นางอรมน กล่าวว่า ปากีสถานมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้นจึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น ปากีสถาน โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อสรุปในการจัดทำ FTA กันได้