นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์วันนี้ ได้มีการเสนอเรื่องพิจารณา 3 เรื่องได้แก่ การเร่งรัดกระบวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่เฉพาะของ EEC ให้เร็วยิ่งขึ้น ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีการเช่าที่ที่เป็นของรัฐ
การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่ EEC ซึ่งจะต้องมีการลงทุนของบริษัทชั้นนำด้านอากาศยานจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องแน่ใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาเหมาะสม จึงได้เสนอ ป.ย.ป.พิจารณาแล้ว แต่กรณีที่ไทยจะพิจารณาให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่า 50% เฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานภายใต้เงื่อนไขภายใต้ว่าไทยมีความต้องการและดูเทคโนโลยีสูงจริงหรือไม่เกิดประโยชน์ต่อไทยมากน้อยเพียงใด โดยสัดส่วนถือหุ้นอาจจะต้องศึกษาว่าไม่เกินเท่าใดด้วยที่เหมาะสม
และกระบวนการดำเนินงาน EEC ได้แก่ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด จึงได้เสนอเพิ่มอัตรากำลังคนมาดูแลแต่ละโครงการใน EEC ทางสำนักงานฯจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้มีการนำเสนอครม.ในวันที่ 23 พ.ค.นี้อีกครั้ง
สำหรับความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะต้องกลับมาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะเดียวกันยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อเสร็จเรียบร้อยจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาพอสมควร จึงคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนต.ค.60 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าพ.ร.บ.EEC จะแล้วเสร็จในกลางปีหรือมิ.ย.แต่ขั้นตอนต่างๆ ต้องการทำให้รัดกุมขึ้น ซึ่งคงจะล่าช้าไปไม่มากและเพื่อให้การปฏิบัติงานได้เร็วระหว่างที่รอกฏหมายรองรับ
โดยในระหว่างนี้ มีแผนจะนำคณะผู้บริหารระดับสูงของไทยเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นในช่วง 4-8 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะมีการไปโรดโชว์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย รวมถึงยุโรปอาจจะมีการหารือกันและสหรัฐอเมริกาในระยะต่อไปแต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด