เลขาธิการ EEC วางเป้าดึงเอกชนรายใหญ่เข้าลงทุน 30 แห่งภายใน 1 ปีหลังใช้ม.44 เพิ่มความคล่องตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 24, 2017 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากการเร่งเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ด้วยการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเร่งรัดโครงการแล้ว จึงตั้งเป้าจะให้มีอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการดึงภาคเอกชนรายใหญ่มาตั้งในพื้นที่ EEC ให้ได้ 30 แห่งภายในอีก 1 ปีข้างหน้า

เบื้องต้นขณะนี้มีการเซ็น MoU ระหว่างแอร์บัสกับบมจ.การบินไทย (THAI) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเจราจาจัดหาพื้นที่ของบริษัท อาลีบาบา และอยู่ระหว่างการเจรจารถยนต์ไฟฟ้ากับทางบริษัทโตโยต้า และอยู่ระหว่างการเซ็น MoU กับบริษัทฮิราตะ ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC

นอกจากนี้ จะมีการเดินหน้าจัดทำแผนท่องเที่ยว EEC ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา รวมถึงมีแผนการพัฒนาด้านพลังงานและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้วย

นายคณิศ กล่าวว่า การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิธิภาพในระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงและนำเข้ากระบวนการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเร็ว

ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 จะดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ

1. เพิ่มเติมให้การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นแบบ เร่งรัด (fast track) กระบวนการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ออกแบบไว้ใช้กับโครงการทั่วไป จึงเห็นว่าควรมีกระบวนการเร่งรัดสำหรับโครงการใน EEC โดยกำหนดให้มี “กระบวนการทำงาน แบบ เร่งรัด (fast track)" เฉพาะโครงการสำคัญและเร่งด่วนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีสาระสำคัญคือ

1) ขอให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ

2) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจาก สกรศ. หรือผู้ขออนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ

3) ขอให้ใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดรวมแล้วไม่เกิน 1 ปี

4) ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการ หรือ มีน้อย (กว่า 3 ราย) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ทำนองเดียวกับกิจการนั้น เป็นผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

2. เพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน กระบวนการร่วมทุนกับเอกชนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลานาน เพราะใช้กับโครงการทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากโครงการสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นประโยชน์สูงกับประเทศอยู่แล้ว เช่น โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องกำหนดให้มี “กระบวนการทำงานการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนลงทุนในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" โดยใช้ เฉพาะกับโครงการเร่งด่วนสำคัญใน EEC ที่คณะกรรมการนโยบายอนุมัติ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้นโดยรักษาเจตนารมย์ตาม พรบ. ร่วมทุนกับเอกชน อนึ่ง การดำเนินการในเรื่องนี้ได้ปรึกษากับ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีระบบ ธรรมาภิบาลที่ดี และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

3. เพิ่มเติมให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน กิจการหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วน อากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการลงทุนได้ตามเป้าหมาย จึงไม่จำเป็นต้องให้คนไทยถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งเสมอไป

ด้วยเหตุดังกล่าวการจัดการให้มีคลัสเตอร์การลงทุนการซ่อม อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยานจึงจำเป็นที่จะต้อง “ปรับปรุงลักษณะของผู้รับใบรับรองหน่วยซ่อมในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" ให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจการลงทุนนั้นๆ เป็นสำคัญ จึงขอเพิ่มเติมเรื่องผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ