คปพ.ยื่นค้านร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับสัญญาแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม เหตุเปิดรับฟังความเห็นอาจขัดกม.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 25, 2017 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเช้าวันนี้ เพื่อคัดค้านร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับเกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากเห็นว่าวิธีการที่กระทรวงเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้นอาจไม่ครบคลุมความคิดเห็นทั้งหมด และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการออกกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ เพื่อมารองรับการปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยที่กฎหมายปิโตรเลียมยังไม่ประกาศใช้ ถือว่าขัดกับหลักการทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

นายปานเทพ กล่าวว่า จากกรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับเกี่ยวกับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทางเว็บไซต์ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ 11-26 พ.ค.60 ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับนั้น โดยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติเอาไว้ว่า "ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ..."โดยกฎกระทรวงก็คือกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 วรรคสองอย่างเคร่งครัดด้วย

ดังนั้น คปพ.จึงมีความห่วงใยใน 2 เรื่อง คือ 1.อาจจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะลักษณะวิธีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว อาจเป็นการปิดกั้น ลิดรอน และละเมิดสิทธิของประชาชนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือไม่รู้วิธีการหรือไม่สะดวกในการเข้าไปในเว็บไซต์ www.dmf.go.th

ถือเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ไม่มีสิทธิเสรีภาพและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลในเรื่องภาษา อายุ ความพิการ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม การศึกษาอบรม ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี และอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของประชาชนตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เหตุผลดังกล่าวข้างต้นยังทำให้ประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและ สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามบทบัญญัติมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

2. การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศทางเว็บไซต์ว่ามีร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยได้แจ้งช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คือต้องแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ URL http://hearing.dmf.go.th/?cat=4 โดยมีร่างกฎกระทรวง จำนวน 3 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....,ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ....และร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. .... โดย คปพ.ขอทักท้วงร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการออกกฎหมายลูก 3 ฉบับ มารองรับการปฏิบัติงานภายใต้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ ถือว่าขัดกับหลักการทางกฎหมาย

นอกจากนี้การปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเพิ่มรูปแบบการสำรวจปิโตรเลียมอีก 2 รูปแบบ คือ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบการจ้างผลิต (SC) จากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทาน พบว่ารายละเอียดและเงื่อนไข ยังไม่แตกต่างกันไปจากระบบสัมปทาน ถือเป็นการปรับแก้ที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ