SCB EIC มองราคาน้ำมันส่งสัญญาณฟื้น หนุนอุตฯปิโตรเคมี-ส่งออก แต่สายการบิน-โลจิสติกส์รับผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 26, 2017 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า จากผลการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) 13 ประเทศ และนอกโอเปก 11 ประเทศ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 60 มีมติคงตัวเลขการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 9 เดือน ถึงเดือนมีนาคม 61 เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลก และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นไปที่ระดับ 55 - 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หากคณะกรรมาธิการติดตามผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกโอเปกและประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก (JMMC) สามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ตามข้อตกลง

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 60 ทั้งกลุ่มโอเปก และนอกโอเปก สามารถร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 102% ตามข้อตกลงในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่สามารถลดปริมาณการผลิตได้ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน มากกว่าที่ตกลงไว้ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน หากกลุ่มโอเปก และนอกโอเปก สามารถทำตามข้อตกลงได้ต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 61 คาดว่าอุปทานส่วนเกินของน้ำมันดิบจะสามารถลดลงจนเข้าใกล้ระดับที่สมดุลกับอุปสงค์ที่ 96 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับระดับสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจูงใจให้ผู้ผลิต shale oil ในสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเกิดการผันผวน จากราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 59 ทำให้บริษัทพลังงานของสหรัฐฯ เริ่มคุ้มทุนในการผลิต โดยจุดคุ้มทุนของราคาน้ำมันสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐฯ อยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ย ผู้ผลิตจึงได้มีการเพิ่มปริมาณแท่นขุดเจาะอย่างต่อเนื่องเป็น 901 แท่นในเดือนพฤษภาคม 60 (223%YOY) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แล้วยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 61 ซึ่งอุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่ออกมามากจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด

SCB EIC มองราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวจะส่งผลบวกต่อผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและมูลค่าการส่งออกของไทย ราคาน้ำมันที่ปรับระดับสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้เล่นในอุตสาหกรรมน้ำมันโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างบริษัทสำรวจและผลิต และผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่รายได้มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนด้านราคา นอกจากนี้ ราคาสินค้า commodity โดยเฉพาะยางพาราที่มีการแปรผันตามราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับระดับราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนที่เกี่ยวข้องมีกำลังซื้อมากขึ้น

ในส่วนของภาคการส่งออก ระดับราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวจะสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกของไทยปรับระดับสูงขึ้น โดย SCB EIC คาดการณ์ว่าในปี 60 การส่งออกของไทยจะเติบโตที่ 2.5% ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ได้ขยายตัวที่ 63% น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวที่ 35% เคมีภัณฑ์และพลาสติก ขยายตัวที่ 12%

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับระดับสูงขึ้นนั้นจะส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนใหญ่ เช่น ธุรกิจสายการบิน ขนส่งและโลจิสติกส์ อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น รวมไปถึงภาคครัวเรือนผู้ใช้รถจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับสูงขึ้นเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ