นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงภาพรวมภาวะสังคมไทยในไตรมาสแรกปี 60 พบว่า มีการจ้างงาน อยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลง 0.6% โดยเป็นการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่นอกภาคเกษตรต่อเนื่องจากช่วงปี 2557-2559 และนอกภาคเกษตรลดลง 0.3% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้น 0.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังทรงตัวที่ 41.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์อื่นลดลง 0.9% และผลิตภาพแรงงานไตรมาสแรก ปี 2560 เพิ่มขึ้น 4% เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากภาคเกษตร 9.2% และนอกภาคเกษตร 3.2%
นายปรเมธี กล่าวถึงการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีผลต่อการจ้างงาน แม้การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3/59 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมูลค่าของการส่งออกสินค้ายังคงต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงปี 55-56 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 58 เป็น 49.6 และ 50.8 ในปี 59 และไตรมาสแรกปี 2560 ตามลำดับ ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากการส่งออกสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายและตลอดปีขยายตัวได้เฉลี่ย 3.6% ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ และนำไปสู่การขยายตำแหน่งงานในระยะต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก และช่วยลดอัตราการว่างงาน
อย่างไรก็ดี ในส่วนการพัฒนาประเทศตามโมเดลประเทศไทย 4.0 นั้น ยังพบว่าแรงงานกว่า 63% และผู้ประกอบการ 78.7% รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน ดังนั้นควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การปรับตัวและเตรียมความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน ธุรกิจเอกชน สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 4.6% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 4.9% ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับอยู่ที่ 12.8% และสินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 10.1%