สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่บทความเรื่อง "การเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอนาคต: กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ First S-Curve" ระบุว่า จากผลสำรวจทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ เกษตร/การผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แปรรูปอาหาร และที่พัก สปา และเรือสำราญ ในกลุ่มแรงงานระดับกลางวุฒิ ปวช. ขึ้นไป 1,353 ตัวอย่าง ผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ 239 ราย ใน 10 จังหวัด พบว่า (1) ในด้านการรับรู้เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 แรงงาน 63.0% รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ประกอบการกว่า 80.0% เห็นด้วยกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่ยังมีข้อกังวลในกลุ่ม SMEs ที่ยังมีข้อจำกัดและอาจไม่สามารถก้าวทันตามการพัฒนา ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุน และ (2) ด้านทักษะของแรงงาน ผู้ประกอบการเห็นว่าแรงงานมีทักษะในระดับมาก มีเพียงการใช้ภาษาอังกฤษและการค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ระดับปานกลาง แต่แรงงานจบใหม่มีทักษะต่ำกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ในทุกด้าน สอดคล้องกับการประเมินตนเองของแรงงานที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษกว่า 50.0% ยังต้องปรับปรุงเนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศส่วนใหญ่มีทักษะใช้อุปกรณ์คอมพิเตอร์ แต่ยังขาดทักษะในการสร้างเนื้อหา โดยทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมในการเรียนการสอน คือ ภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
"การพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การรับรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขาดเงินทุน/การลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน"
ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินงาในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทาง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการออกแบบหลักสูตรอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์ของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะบางด้าน อาทิ ด้าน Digital Skill การจัดการ Big Data ควบคู่กับคุณลักษณะการทำงาน อาทิ การคิดวิเคราะห์ การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริง อย่างเหมาะสม การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถหลากหลายยืดหยุ่น รู้จักการปรับตัว และทักษะการสร้างทีม
การพัฒนาแรงงานในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ครอบคลุมและเหมาะสมกับศักยภาพทั้งกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุ แรงงานภาคเกษตร แรงงานในธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบและความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานในกลุ่มเหล่านั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ
การวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ของธุรกิจเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการและทำงานได้จริง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในด้านความรู้ที่เป็นแกนหลัก ความสามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถคิดวิเคราะห์ ใช้คิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา (Brain Power) และนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสม อาทิ มีทัศนคติที่ดี อดทน รับผิดชอบ ทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยการผลิตที่เหมาะสมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs การจับคู่/สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คิดนวัตกรรม (startup) กับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าบริการใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริม การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์