นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตลอดจนใช้ผลิตภัณฑที่ปลอดสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นส่งผลให้มีความต้องการบริโภคสินค้าออร์แกนิคเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย เกษตรอินทรีย์ หรือ ออกร์แกนิค จึงเป็นตัวเลือกที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของกลุ่มคนที่หันกลับมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น
ทั้งนี้ ในแง่ของผู้ผลิตสินค้าออกร์แกนิก นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับมาตรฐานออร์แกนิคแล้ว การทำการตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยการพัฒนาตลาดสินค้า ออร์แกนิค นั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ อาทิ 1) การใช้ช่องทางการตลาดที่เหมาะสม ทั้งในรูปแบบดั้งเดิม เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ชุมชนออร์แกนิค ร้านขายสินค้าออร์แกนิค ตลาดชุมชน และในรูปแบบของตลาดดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคสามารถที่จะเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา 2) การเจาะกลุ่มตลาด เช่น สมาชิกแฟรนไชส์ การท่องเที่ยวเชิงอนุลักษณ์ และความสวยความงาม ซึ่งแต่ละกลุ่มตลาดก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์การบริโภค 3) การสนับสนุนด้านการตลาด เช่น การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ และการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนและยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ในสายตาของผู้บริโภคด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งในแวดวงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น ความเชื่อถือในตัวผลิตภัณฑ์ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันมาก และ 4) ปัจจัยภายนอก เช่น การค้าที่เป็นธรรม การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน สวัสดิภาพของแรงงานและสัตว์ และความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ถูกใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการวางยุทธศาสตร์ด้านการตลาดสินค้าออร์แกนิค ปี 2560-2564 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ที่สำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูลที่มีความทันสมัย เพื่อรองรับการดำเนินการด้านการตลาดและก้าวทันต่อการการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้ 2) ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองออร์แกนิค โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้และมาตรฐานการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคขอไทยได้รับความน่าเชื่อถือในตลาดต่างประเทศ 3) การพัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการออร์แกนิค โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และ 4) การพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับออร์แกนิค ทั้งในตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ
รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงมหาดไทย สมาคมออร์แกนิคแห่งประเทศไทย ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม และโมเดิร์นเทรดเป็นต้น โดยได้มีการดำเนินโครงการในรูปแบบต่างๆ เพื่อเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคร่วมกับชุมชนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของชุมชนนั้นได้คุณภาพและมาตรฐานจนถือมือผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชน มีรายได้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เพิ่มสูงขึ้นโดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาออร์แกนิคของไทย แยกเป็นการส่งเสริมตลาดออร์แกนิคในประเทศ เช่น การเปิดโอกาสให้เกษตรกรจากประเทศได้เข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์และสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรไทย (Opportunity on Organic Farm) การร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาและรับซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากชุมชน การส่งเสริมการตลาดสินค้าออร์แกนิคร่วมกับโมเดิร์นเทรดและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้สร้างเครือข่ายออร์แกนิกร่วมกับสมาคมการค้าออร์แกนิคของสหรัฐฯ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าออร์แกนิคระดับโลก เช่น ANUGA BioFach และ All Things Organic เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพาณิชย์ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานด้านออร์แกนิคของประเทศในกลุ่มอาเซียนจัดการประชุมจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (The Federation of ASEAN Organic Producer and Trader Association) ขึ้น ในช่วงระหว่างงาน Organic & Natural Expo ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านออร์แกนิคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
“การประชุมจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียนนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกในการสร้างความร่วมมือด้านออร์แกนิคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในอันที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของภูมิภาคนี้ให้กลายเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าออร์แกนิคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เนื่องจากอาเซียนถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีความสมบูรณ์และเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรในด้านต่างๆ ที่จะเกื้อหนุนต่อการเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของโลกได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้ คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านออร์แกนิค การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตลอดจนมีการพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัย เป็นต้น ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในอาเซียนช่วยกันผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง" นางอภิรดี กล่าว