สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
นายขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ 4.0 จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถาบันต่างๆ โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ก้าวทันทิศทางของอุตสาหกรรมโลก และเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง สอดคล้องกับนโยบายการนำประเทศเข้าสู่โมเดล ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อเป็นการนำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 จึงเกิดเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ยกระดับ 12 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคเป็นศูนย์เทคโนโลยีขั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และกำหนดให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี Automation และ Robotics เพื่อรองรับนโยบาย EEC ของรัฐบาล โดยร่วมกับสถาบันไทย – เยอรมัน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาทั้งหลักสูตร เครื่องมืออุปกรณ์ และบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0
สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ภายใต้ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ทำการคาดการณ์ความต้องการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้าสู่ Industry 4.0 เพื่อรองรับกับนโยบายของ กพร. ด้วยการนำข้อมูลที่เคยจัดทำ Database on Demand ไว้แล้ว จำนวน 15 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มาวิเคราะห์ความต้องการพัฒนาคน 2 ตำแหน่งที่สำคัญ คือ Technician และ Engineer ซึ่งผลที่ได้พบว่า มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการพัฒนาทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคน
ทั้งนี้ สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ จะได้นำข้อมูลการคาดการณ์ที่ได้มาวางแผนในการพัฒนาร่วมกับการฝึกอบรมในหลักสูตรของสถาบันไทย – เยอรมัน ซึ่งเป็นหลักสูตรในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) ในช่วง 2.0 – 3.0 จำนวน 44 หลักสูตร ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ Mechanical, Electrical & Control และ Industrial Production ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปี (2017 – 2021)
มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA)เพื่อรองรับการพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้นได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสนองนโยบายรัฐบาลอีกด้วย