ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มแข็งค่าและเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.25 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดที่ 34.06 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาททำสถิติแตะระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.58 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรมูลค่า 1.6 พันล้านบาทและ 1.42 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ นักลงทุนให้ความสนใจตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค.ของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในระยะหลังที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์เพียงชั่วคราวเท่านั้น และมองว่าในระยะ 1 สัปดาห์ หากดอลลาร์/บาทยังไม่หลุดแนวรับสำคัญที่ 34.00 ยังมีโอกาสที่เงินบาทจะเผชิญแรงขายทำกำไรบ้างในช่วงสั้นๆ จนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดรับรู้โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนไปแล้ว 80% จุดสนใจของตลาดจึงอยู่ที่สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการ กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นหลังการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน รวมถึงประเด็นความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ กนง. ระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง.ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้างซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มองว่าการปรับภาษาลักษณะนี้ อาจทำให้ตลาดเข้าใจว่าทางการอาจเข้าดูแลตลาดน้อยลง ขณะที่ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกยังคงเผชิญปัจจัยลบหลายประการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 60 เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 5% ซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาค