นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็วในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้น ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินทั้งภูมิภาค หลังการเผยแพร่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะยังอยู่ในแนวทางค่อยเป็นค่อยไป
แต่อีกส่วนหนึ่งของการแข็งค่าของเงินบาท มาจากปัจจัยเฉพาะของไทย กล่าวคือ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางโดยรวมดีขึ้น และมีการตีความถ้อยแถลงของ กนง.ว่า กนง.มีความพอใจกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่สอดคล้องกับภูมิภาคในช่วงก่อนหน้านี้ และ กนง.ลดความกังวลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ปัจจัยเฉพาะเหล่านี้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน
"ขอชี้แจงว่า ธปท.ยังคงจับตาเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นที่อาจมีความผันผวนสูงและทำให้ค่าเงินบาทผันผวนสูงตาม โดย ธปท.พร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อลดแรงจูงใจของการนำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ ซึ่งแหล่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้น คือ พันธบัตร ธปท."นายเมธี กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท.อายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อลดช่องทางที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนระยะสั้นๆ ในประเทศไทย ส่งผลให้ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.อายุต่ำกว่า 1 ปีทยอยปรับลดลง
สำหรับเดือน มิ.ย.นี้ ธปท.ยังคงมีนโยบายลดยอดคงค้างพันธบัตรดังกล่าว เพราะแม้ปริมาณการออกใหม่จะคงไว้เท่ากับเดือน เม.ย. และ พ.ค. แต่ปริมาณการออกใหม่จะต่ำกว่าปริมาณที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยพันธบัตรอายุ 3 เดือนจะครบกำหนด 205,000 ล้านบาท และพันธบัตรออกใหม่ 150,000 ล้านบาท ส่วนพันธบัตรอายุ 6 เดือนจะครบกำหนด 166,179 ล้านบาทและมีพันธบัตรออกใหม่ 150,000 ล้านบาท รวมพันธบัตร ธปท. อายุต่ำกว่า 1 ปี ลดลง 71,179 ล้านบาท