นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดใหม่เดือนก.ย.-ธ.ค.60 มีโอกาสปรับขึ้น แต่อาจจะไม่มากเท่ากับที่คาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรากว่า 10 สตางค์/หน่วย หลังไม่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่า peak ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 32,000 เมกะวัตต์ โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดล่าสุดในปีนี้อยู่ที่ราว 30,303 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าปีก่อนที่เกิด peak ที่ระดับ 30,972.7 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเอฟทีที่จะเพิ่มขึ้นมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็จะช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าได้บ้าง รวมถึงยังมีเงินจากค่าปรับและค่าชดเชยต่าง ๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่าง ๆ มาลดค่าเอฟทีลงได้อีก 4-5 สตางค์/หน่วย ซึ่งค่าปรับและค่าชดเชยดังกล่าวจะนำมาใช้ลดค่าเอฟทีในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. และงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.
ส่วนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐหลังจากนี้ไม่น่าจะเข้ามากระทบมากนัก เนื่องจากโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่เริ่มรับซื้อใหม่ในช่วงนี้จะทยอยเข้าระบบในช่วงปี 61-63
"แนวโน้มค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแน่ แต่ไม่น่าจะเยอะเหมือนที่คาด เพราะราคาก๊าซฯขึ้นแน่ แต่บาทก็แข็งค่า ทุก 1 บาทที่แข็งค่าก็จะช่วยเอฟทีได้ 5-6 สตางค์/หน่วย peak ปีนี้คงไม่มีที่ผ่านมาทำได้ 30,300 เมกะวัตต์ น้อยกว่าปีที่แล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงกว่าที่คิด แต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่ ตราบใดที่ยังไม่ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า"นายวีระพล กล่าว
อนึ่ง กกพ.เพิ่งปรับขึ้นค่าเอฟที งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.60 อีก 12.52 สตางค์/หน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดใหม่อยู่ที่ -24.77 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5079 บาท/หน่วย ซึ่งไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเพิ่มขึ้นราว 3.70%