คลัง เผยผลจัดเก็บรายได้รัฐ 7 เดือนแรกปีงบ 60 สูงกว่าเป้า 0.4% ชี้ศก.ไทยยังโตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 29, 2017 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 1,223,594 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 4,946 ล้านบาท หรือ 0.4% มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 25,475 ล้านบาท หรือ 30.4% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 8,349 ล้านบาท หรือ 9.5% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์

"จากภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรร อปท. จำนวน 1,223,594 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,946 ล้านบาทหรือ 0.4% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.0%) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และ กรมสรรพสามิต รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงเดียวกัน ปีที่แล้วมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) ทำให้ ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว หากไม่รวมรายได้ดังกล่าวการจัดเก็บรายได้ในปีนี้จะขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 867,724 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,108 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 19,524 ล้านบาท หรือ 2.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 21,602 ล้านบาท หรือ 4.8% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.1% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าขยายตัวจาก ช่วงเดียวกันปีก่อน 8.7% และใกล้เคียงกับประมาณการ
  • ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 1,894 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,606 ล้านบาท หรือ 70.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 63.1%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีงบประมาณ (ซึ่งต้องชำระภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ 2560) ได้โอนสัมปทานหลุมขุดเจาะให้บริษัทในเครือ ทำให้การชำระภาษีลดลง ส่วนผู้รับโอนสัมปทานมีรอบระยะเวลาบัญชีปีปฏิทิน ซึ่งจะชำระภาษีในเดือนพฤษภาคม 2560

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 10,354 ล้านบาท หรือ 5.4% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.7) เป็นผลจากภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) และภาษีกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 327,042 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,540 ล้านบาท หรือ 0.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.6%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,699 ล้านบาท หรือ 9.3% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,447 ล้านบาท หรือ 6.9%

3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 59,836 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,664 ล้านบาท หรือ 15.1% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.2%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าป้าหมายจำนวน 11,489 ล้านบาท หรือ 16.6% เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.5%และมูลค่าการนำเข้าในรูปของเงินบาทขยายตัว 8.8% ตามลำดับ

4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 96,304 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,349 ล้านบาท หรือ 9.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13.3%) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โรงงานยาสูบ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย

5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 109,231 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,475 ล้านบาท หรือ 30.4% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 33.1%) สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,915 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 795 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.3) โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุ และจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 177,564 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 358 ล้านบาท หรือ 0.2% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 122,136 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,164 ล้านบาท หรือ 14.2% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 55,428 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,522 ล้านบาท หรือ 58.8%

7. อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,632 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 458 ล้านบาท หรือ 7.5%

8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 8,891 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,145 ล้านบาท หรือ 11.4%

9. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 9,091 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 434 ล้านบาท หรือ 4.6%

10. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 35,365 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 325 ล้านบาท หรือ 0.9%

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดเก็บรายรัฐบาลสุทธิ เฉพาะเดือนเม.ย.60 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 181,571 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,392 ล้านบาท หรือ 2.4% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6.6%) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ที่ต่ำกว่าประมาณการ 8,049 ล้านบาท หรือ 6.2% กรมสรรพสามิต ที่ต่ำกว่าประมาณการ 2,484 ล้านบาท หรือ 4.9% และกรมศุลกากร ที่ต่ำกว่าประมาณการ 2,329 ล้านบาท หรือ 24.3%

อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 6,253 ล้านบาท หรือ 30.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25.9%) และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 328 ล้านบาท หรือ 1.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 128.5%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ