(เพิ่มเติม) สศค.เศรษฐกิจไทย เม.ย.โตต่อเนื่องจากส่งออก-ท่องเที่ยว-รายได้เกษตรหนุน แม้ลงทุนเอกชนยังไม่ชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 29, 2017 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน เม.ย.60 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง

ในเดือน เม.ย.60 การส่งออกมีมูลค่า 16.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.5% ต่อปี ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออกได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา สินค้าเกษตรกรรม เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ ทองคำ สิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ สำหรับประเทศที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม กลุ่ม CLMV และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ

สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนเม.ย. 60 มีมูลค่า 16.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.4% ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง สินค้าทุน และทองคำ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย.60 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตร และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ 27.4% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 3.3% ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง สอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.8% ต่อปี จากการขยายตัวได้ในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดประมง เป็นสำคัญ

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเม.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.0% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 3.3% ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีของนักท่องเที่ยวฮ่องกง รัสเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ

ด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวถึง 16.3% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.2% ต่อเดือน โดยเป็นผลจากยอดจดทะเบียนในเขต กทม. และในเขตภูมิภาคที่ขยายตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 30.6% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ 23.2% ต่อปี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 65.4 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 24 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณผสม โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ 10.1% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 0.9% ต่อเดือน โดยได้รับปัจจัยบวกจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.5% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ชะลอตัวลงเล็กน้อย

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.4% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มี.ค.60 อยู่ที่ระดับ 42.3% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60%

ด้านเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน เม.ย.60 อยู่ที่ระดับ 184.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 3.4 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงกรณีที่ภาพรวมการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือน เม.ย.2560 ที่ลดลง 2.6% สวนทางกับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีขึ้นว่า เป็นอีกประเด็นที่ สศค. และกรมสรรพากรกำลังเร่งพิจารณาในรายละเอียด โดยเข้าใจว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากประชาชนเริ่มหันไปซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นขอต้องเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ไปแล้วกว่า 11 ล้านราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านราย โดยคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดว่ามีประชาชนที่ผ่านคุณสมบัติทั้งสิ้นกี่ราย ส่วนสวัสดิการเบื้องต้นที่เตรียมไว้รองรับ ได้แก่ มาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดทำโครงการธงฟ้า เพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ในโครงการดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี อีกกว่า 3 ล้านคน ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ให้อยู่เหนือเส้นความยากจน และสามารถใช้ชีวิตในการดำรงชีพได้ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ