หอการค้าไทยเปิดโครงการ"ไทยเท่ ทั่วไทย"เฟ้นสุดยอดผู้ประกอบการร่วมกระตุ้นศก.ภูมิภาคจากวัฒนธรรมท้องถิ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 30, 2017 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย"ว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทาง Trade and Services 4.0 ของหอการค้าไทยฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยองค์ประกอบด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative Economy) ผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย (Digital Economy) และความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมของไทย (Cultural Economy) เพื่อสร้างเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด ภายใต้แนวคิด "ไทยเท่" ที่ได้เริ่มสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมสนับสนุนความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 เมื่อเดือนพ.ย.59 จ.พระนครศรีอยุธยา และได้มีการขยายผลต่อยอดไปยังเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแนวคิด "ไทยเท่" ดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบคู่ขนาน ทั้งการสร้าง Demand "นิยมเท่แบบไทย" ให้ผู้บริโภค และการพัฒนา Supply "ไทยที่มีความเท่" ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งบทบาทของหอการค้าไทยฯ พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตร จะสนับสนุนการพัฒนา Supply ทั้งด้านสินค้าและบริการ ให้มีความเท่แบบไทย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคโดยดำเนินการผ่านโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการกระตุ้น Demand ผ่านโครงการ “เที่ยวไทยเท่" เพื่อสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคภูมิใจและรู้สึกว่าเท่เมื่อใช้สินค้าและบริการที่มีความเป็นไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560 และสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มผู้บริโภคได้ราว 25 ล้านคนแล้ว

สำหรับโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" โดยหอการค้าไทยฯ นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แสดงฝีมือและพัฒนาความสามารถให้ก้าวไกลสู่สากล ผ่านการประกวดซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและโดดเด่นในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม "พร้อมเท่" โดยหอการค้าไทยฯ จะคัดเลือกและมอบรางวัลไทยเท่ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ในฐานะที่เป็นต้นแบบแก่ผู้ประกอบการรายอื่น รวมทั้งสนับสนุนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และ 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสนใจและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม “กำลังเท่" โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพ หากพัฒนาเพิ่มเติมก็จะสามารถเติบโตได้อีกมาก และหอการค้าไทยฯ จะได้เข้าไปร่วมสร้างความเข้มแข็งในจุดนี้ โดยจัดการประกวดแยกใน 4 หมวดตามพฤติกรรมของนักท่องที่ยว ได้แก้ 1) กิน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ 2) ใช้ ได้แก่หมวด เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึก และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ 3) ทำ กิจกรรมในท้องถิ่น และ 4) เที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก เส้นทางท่องเที่ยว เป็นต้น

"วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในแต่ละพื้นที่ สามารถสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี" ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายได้นำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดสินค้าและบริการเท่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งได้จำลองเมืองไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้มีประสบการณ์แต่งกายชุดไทย ห่มสไบ ใช้เงินโบราณ ภายใต้บรรยากาศบ้านเรือนและร้านค้าในอดีต

โครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย มีที่พักซึ่งให้ผู้เข้าพักได้สวมใส่งอบและชุดม่อฮ่อม ปั่นจักรยานเข้าสวน มีกิจกรรมให้ทดลองทำนา รวมถึงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่สรรสร้างจากข้าวไทย เช่น ชาข้าว น้ำปั่นใบข้าว ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างงานและสนับสนุนชุมชนอีกด้วย เรียกว่าได้ทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ หอการค้าไทยฯ เล็งเห็นว่ายังมีผู้ประกอบการไทยอีกมากที่มีศักยภาพ หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ก็จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในทุกภูมิภาค

นายกลินท์ กล่าวว่า ในด้านการพัฒนาความสามารถและสนับสนุนผู้ประกอบการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน รวมถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทยฯ โดย Thailand SMEs Center ร่วมพัฒนาความสามารถและสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ได้แก่

1) เพิ่มโอกาสทางการขาย จากการร่วมแสดงผลงานในงานแสดงสินค้าระดับประเทศ อาทิ งาน BIG+BIH และงาน THAIFEX-World of Food Asia การสนับสนุนการเปิดตลาดในต่างประเทศโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การส่งเสริมโอกาสในการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งโอกาสในการนำสินค้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเครือข่ายหอการค้าทั้งในและต่างประเทศ

2) เสริมความแข็งแกร่ง จากการอบรมเพื่อพัฒนาด้าน Design และ Branding โดยผู้เชี่ยวชาญ การรับการสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการรับฟังแนวคิดและรับคำแนะนำจากผู้ประกอบการที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มจนประสบผลสำเร็จ และ 3) สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก จากการได้รับรางวัลเกียรติยศและประกาศนียบัตรรับรองจากรัฐมนตรี โอกาสในการได้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ธุรกิจผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการได้รับเชิญเข้าร่วมบรรยายและออกบูธแสดงสินค้าในเวทีสัมมนาสำคัญๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่สนใจ สามารถเข้าร่วมโครงการ “ไทยเท่ ทั่วไทย" เพื่อร่วมเฟ้นหาผู้ที่เป็นที่สุดในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2560 โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งและความพร้อม ก่อนจะตัดสินผลการประกวดในเดือนตุลาคม 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ