นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยว่า วันนี้ระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในปี 2559 Asian Corporate Governance Association ได้ประกาศให้ไทยอยู่อันดับ 2 ของภูมิภาค ASEAN ในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นสมาชิก DJSI ถึง 14 บริษัท ซึ่งมากที่สุดในอาเซียนอันเป็นตัวอย่างความก้าวหน้าในมุมของ "ธรรมาภิบาล"
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้าแล้ว ปัญหาที่ภาคธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทย และสังคมไทยจะต้องเผชิญ จะต่างไปจากเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก และปัญหาที่เราต้องเผชิญจะซับซ้อนมากขึ้นมากด้วย ปัญหาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบที่ผลประโยชน์กระจุกตัว ละเลยปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่หันมาทบทวนแนวทางในการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (sustainability) อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง "ธรรมาภิบาล" (governance) เป็นเพียง "เงื่อนไขที่จำเป็น" ต่อการสร้างความยั่งยืน "แต่ไม่เพียงพอ" เพราะการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องอาศัยการสร้างสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า บริบทของโลกจะมีลักษณะที่เรียกกันว่าเป็น VUCA มากขึ้น ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous) เราจะต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ ๆ ภายในประเทศที่มีอยู่ไม่น้อยด้วย นับเป็น "โจทย์ท้าทาย" ที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันขบคิดว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะต่อไปอย่างไร ด้วยวิธีใด ซึ่งภาคธุรกิจธุรกิจขนาดใหญ่ และบทบาทของ "คณะกรรมการบริษัท" จะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ
ดังนั้นภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่มีศักยภาพสูงมากที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยภาคธุรกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการบริษัทเป็นมันสมองสำคัญในการคิดพิจารณาวางแผนสั่งการ และกำกับการทำงานของธุรกิจ สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ อย่างน้อย 3 มิติ ดังต่อไปนี้ มิติแรก ธุรกิจพึงตระหนักว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่ที่สำคัญของตน ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ของสังคมไปพร้อมกับการขยายธุรกิจ การทำกำไรและสร้างความสามารถในการแข่งขันของตนได้ด้วย หากทำสำเร็จ ก็จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในลักษณะที่เรียกว่า "ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา"
มิติที่ 2 ที่คณะกรรมการบริษัทอาจจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ การลงทุนของภาคธุรกิจไม่ควรคิดเพียงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของธุรกิจของตน พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้โลกใหม่ของเรามีข้อมูลรายธุรกรรม (digital footprint) ของทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิต ข้อมูลในระบบ digital จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้เรายกระดับประสิทธิภาพการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การทำการตลาด รวมถึงการบริหารความเสี่ยง มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับดิจิทัลจะเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิมมาก ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน
นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพที่จะสำคัญมากขึ้นในโลกใหม่ คือ การลงทุนในสิ่งที่เรียกว่า เป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) การสร้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้นำขององค์กร การสร้างระบบจัดการความรู้ในองค์กร ตลอดจนการพัฒนาความรู้และทักษะตลอดชีวิตการทำงานของพนักงาน
และมิติที่ 3 ของการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ "สร้างภูมิคุ้มกัน" เพื่อให้ธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนและความไม่แน่นอนในรูปแบบต่างๆ ในด้านการเงินนั้น ธุรกิจต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงทางการเงินสมัยใหม่สามารถบริหารจัดการ ความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม
นอกจากด้านการเงินแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก คือ การบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ strategic risks หนึ่งในความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของโลกยุคใหม่คือ การไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่นี้ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตก็นับว่าเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องระมัดระวัง เราเห็นบทเรียนของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องล้มไปเพราะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัว (agility) มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่
นอกจากนี้ การละเลยและไม่คำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม และไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับของสังคม ก็เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงต่อชื่อเสียงที่สำคัญของธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมองรอบ มองกว้าง มองไกล และมองด้วยความเข้าใจ
ภายใต้ความท้าทายและบริบทโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดเดา รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาผลิตภาพ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีศักยภาพสูงมากที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำ มีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยกระดับคุณภาพสังคมไทยได้และเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย คณะกรรมการบริษัทเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการกำหนดทิศทาง จัดสรรทรัพยากรและกำกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทยและสังคมไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ภายใต้บริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง ประกอบกับเราไม่อาจคาดหวังให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว เพราะแม้ว่าภาครัฐกำลังดำเนินการปฏิรูปในหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้าง สถาบัน กฎระเบียบ บุคลากร ตลอดจนกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนมาก
"หากเราไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ในที่สุด ผลเสียที่เกิดขึ้นจะกลับมาเหนี่ยวรั้งศักยภาพของภาคธุรกิจ เป็นต้นทุนแฝงในอนาคตที่อาจจะสูงกว่าต้นทุนของการแก้ไขปัญหาในวันนี้มาก ถ้าเรายังซื้อเวลาต่อไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องระยะยาว เราอาจจะเหลือโอกาสน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะในอนาคตเราต้องใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ดิ้นรนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความอยู่รอด ไม่สามารถเดินหน้าให้ยั่งยืนอย่างมียุทธศาสตร์ได้" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว