นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งปัจจุบันมีหนี้เสียกว่า 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 50% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้ธนาคารดำเนินการต่อไปได้ เพราะปัจจุบันธนาคารมีผลขาดทุนสะสมมากเกินไปถึง 28,278 ล้านบาท ทำให้ BIS Ratio ติดลบ 30.64% จากปกติที่ควรจะอยู่ที่ 8.5%
สำหรับแผนการฟื้นฟูกิจการนั้น จะมีการปรับโครงสร้างทางการเงินของไอแบงก์ โดยการโอนหนี้ส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ IAM (Isramic Asset Management) และหลังจากนั้นจะมีการลดทุนเหลือหุ้นละ 1 สตางค์ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของไอแบงก์ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย (KTB) หลังจากนั้นจะมีการโอนเงินสำรองตามกฎหมายประมาณ 473 ล้านบาท และจะมีการเพิ่มทุน 18,100 ล้านบาท จากนั้นจะปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อให้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม และยังมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้หลากหลายขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้ามุสลิม ขยายสินเชื่อให้ลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 200 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐกับรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ จะมีการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเหลือปีละไม่เกิน 5% ควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงาน การปิดสาขาที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่มีปัจจัยสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 50 ล้านบาท ลดขนาดองค์กร ลดจำนวนพนักงาน และในอนาคตจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะอยู่ในระดับไม่เกิน 6% ของสินเชื่อโดยรวม ซึ่งสาเหตุที่ต้องโอนแค่สินเชื่อที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,600 ล้านบาท เนื่องจากตามหลักของศาสนาอิสลามนั้นสินเชื่อจะต้องเป็นไปตามกฎหมายชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ซึ่ง IAM ไม่ได้จัดตั้งตามกฎหมายชะรีอะฮ์
ทั้งนี้ หลังจากลดทุน เพิ่มทุน และจัดการกับหนี้เสียแล้ว จึงจะมีการหาพันธมิตรเข้ามา
"นายกฯ กำชับว่าจะต้องตัวผู้ที่ทำให้เกิดหนี้เสียเหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าปัญหานี้จะเกิดในสมัยไหนก็ตาม" นายณัฐพร ระบุ
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวเสริมว่า ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างทางการเงินของไอแบงก์ ก็เพื่อให้ธนาคารยังสามารถดูแลลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิมได้ต่อไป เพราะหากปล่อยให้หยุดกิจการ รัฐก็จะต้องเข้าไปดูแลผู้ฝากเงินอีกราวแสนล้านบาท และยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยให้แก่พนักงานที่ต้องตกงาน ซึ่งเมื่อรวมๆ กันแล้วอาจจะมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นวิธีการปรับโครงสร้างดังกล่าวจึงถือเป็นทางออกที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขที่เบ็ดเสร็จและตรงประเด็น ด้วยการที่ธนาคารจะยังคงอยู่ แต่แยกหนี้เสียซึ่งไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากลูกค้ามุสลิมออกมาให้ IAM บริหารจัดการ
สำหรับการขอมติ ครม.วันนี้คือ การขอแก้กฎหมายให้กระทรวงการคลังสามารถถือหุ้นในไอแบงก์ได้มากกว่า 49% เพื่อให้สามารถเพิ่มทุนในไอแบงก์ได้ จากเดิมที่กฎหมายระบุไว้ไม่ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 49% ซึ่งการเพิ่มทุนจะทำให้ไอแบงก์มีทุนในการดำเนินกิจการ และช่วยให้ BIS Ratio กลับมาอยู่ในระดับที่สามารถหาพันธมิตรเข้ามาได้ ส่วนในอนาคตกระทรวงการคลังจะปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็นเท่าใดนั้น ค่อยไปเจรจากับพันธมิตรในภายหลัง
"การหาพันธมิตร ไอแบงก์ต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลามได้ โดยมติ คนร.ขอให้ไอแบงก์ดำเนินการอย่างน้อยให้ได้ชื่อพันธมิตรใน มิ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจมากกว่า 1 ราย แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ว่าเป็นในประเทศหรือต่างประเทศเพราะอยู่ในช่วงกระบวนการ" นายเอกนิติ กล่าว