นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบราง ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐมนตรี MLIT ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (HLIC) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ณ กรุงโตเกียว
โดยร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และ MLITประกอบด้วย
1.การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (BCHSR)
2.การพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้
3.การให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
4.การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC)
5.ระบบขนส่งมวลชนทางราง
6.แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2
7.การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ
8.ความร่วมมือเพิ่มเติมสำหรับรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ในการลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและดิจิทัล ระหว่างกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยร่างบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล บนหลักการของความเท่าเทียมกัน การตอบแทนกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย โดยมีขอบเขตความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวม 6 สาขา ได้แก่
1. ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตรวจอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3. การแบ่งปันความรู้ในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการและแอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและดิจิทัล 4. การพัฒนาบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล 5.ความร่วมมือด้านไปรษณีย์ และ 6.ความร่วมมือด้านอื่นๆ ของไอซีทีและแอปพลิเคชันดิจิทัลที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน
ทั้งนี้ ร่างบันทึกความร่วมมือฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามโดยผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย และจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปีหลังจากนั้น เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอยุติ โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน