สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน เม.ย.60 อยู่ที่ 100.07 หดตัว 1.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 20.03% จากเดือน มี.ค.60 โดยค่าดัชนี MPI เดือนเม.ย.60 เป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เม.ย.58 ที่ค่าดัชนี MPI อยู่ที่ 97.80 เช่นเดียวกับอัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 53.62 ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปีเช่นกันเมื่อเทียบกับเม.ย.58 ที่อัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 53.47
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกรรมยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกไปยังประเทศในตะวันออกกลางยังคงหดตัว ประกอบกับ เดือน เม.ย.มีวันหยุดต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่าปีก่อน ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง
อย่างไรก็ตาม พบว่าการจำหน่ายยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.70% เนื่องจากผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งการกระตุ้นตลาดหลักจากผู้ประกอบการหลังจากคาดการณ์กำลังซื้อรถมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ใช้สิทธิในโครงการรถคันแรกที่หมดระยะโครงการแล้ว ทำให้ภาระหนี้ที่กู้มาซื้อรถหมดลง จึงเหลือเงินมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอยและการซื้อรถใหม่ทดแทน
ส่วนเครื่องประดับ ปรับตัวลดลง 22.67% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากมีการปรับการวางแผนการผลิตและจำหน่ายให้เหมาะสมกับช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
โลหะประดิษฐ์อื่น ๆ ปรับตัวลดลง 17.87% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการผลิตสินค้าที่แตกต่างจากปีก่อนเปลี่ยนจากกระป๋องกาแฟเป็นกระป๋องเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ปริมาณสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายได้ลดปริมาณลง
น้ำดื่ม ปรับตัวลดลง 7.48% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากจากกระแสเรื่องการดูแลสุขภาพกำลังมาแรง ในขณะที่น้ำดื่มบริสุทธิ์ เป็นผลมาจากได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงวิกฤตภัยแล้งปีก่อน (เดือนมีนาคม-เมษายน) ส่งผลให้ทางโรงงานต้องเร่งผลิตสินค้า
ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.33% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากความต้องการในสินค้า other IC, monolitic IC และ transistor ในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจัยหนุนของแนวโน้มเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ และ Internet of Things (การสั่งงานอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต) ซึ่งทำให้มีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น
แป้งมัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.51% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากลูกค้าจากประเทศจีนได้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น อีกทั้งราคาหัวมันสดต่ำลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50-1.80 บาท (ปี 59 ราคากิโลกรัมละ 2.35-2.80 บาท) โรงงานจึงทำการผลิตแป้งมันเพื่อสต็อกสินค้าไว้จากต้นทุนที่ต่ำลง
คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.16% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นผลจากการเร่งรัดลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ เช่น การขยายถนน โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน รถไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนการใช้สำหรับงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวได้เฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก
อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.03% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากในเดือนเมษายนมีคำสั่งซื้อเตรียมใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.97% ส่วนตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 3.03%
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยถึงภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อยเพียง 0.1% ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวที่ 7.5% (ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6)
การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ 10.4% รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวที่ 13.1% แสดงให้เห็นถึงการความแข็งแกร่งในสินค้ากลุ่มส่งออกที่ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แป้งมัน คอนกรีต ซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม จากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 13.1% ส่งสัญญาณการเตรียมการผลิตในไตรมาสหน้า แสดงให้เห็นภาพเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายศิริรุจ กล่าวว่า สศอ.ยังคงเป้า MPI ทั้งปีที่ 0.5-1.5% โดยคาดว่า MPI เดือนพ.ค.น่าจะกลับมาเป็นบวกได้เพราะเม.ย.ถือเป็น Seasoning ที่ MPI จะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะยังส่งผลบวกต่อดัชนี MPI คือ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร คอนกรีต ซีเมนส์ โลหะ ส่วนครึ่งปีแรกคาดว่า MPI จะอยู่ในระดับทรงตัว
ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมทั้งปียังคงคาดว่าจะโตได้ตามเป้าเดิมคือ 1-2% จากไตรมาสแรกที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.2%
"เรายังเห็นสัญญาณบวกจากจากสัญญาณการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเริ่มปรับขึ้น ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นส่วนที่กำลังเป็นนโยบายนำ ...ทั้งนี้ เรามองว่าโครงการ EEC จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะโตเฉลี่ยที่ 5% ใน 20 ปีข้างหน้าเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง" นายศิริรุจ กล่าว