ส.ธนาคารไทย เตรียมเปิด 2 บริการใหม่"รีเควสท์ทูเพย์-ชำระบิลข้ามธนาคาร"ต่อยอดพร้อมเพย์ใน Q4/60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 1, 2017 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ในครึ่งหลังปีนี้ บริการพร้อมเพย์จะเพิ่ม 2 บริการใหม่เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่ บริการรีเควสท์ทูเพย์ (Request to Pay) ให้บริษัทผู้ขายสินค้า บริการ เบี้ยประกัน ฯลฯ ส่งคำสั่งเรียกเก็บเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ และลูกค้าก็สามารถกดยืนยันและชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ทันที ดังนั้นรีเควสท์ทูเพย์จะอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้เรียกเก็บเงินและผู้ชำระเงิน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

สำหรับอีกบริการ คือ บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross Bank Bill Payment) เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจที่ส่งบิลเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าเป็นประจำ สามารถสมัครใช้บริการชำระบิลข้ามธนาคารกับธนาคารเพียงแห่งเดียว (Bank Agent) ลูกค้าของธุรกิจนั้นสามารถนำบิลที่ได้รับชำระผ่านพร้อมเพย์ได้ทันที ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามาก ในขณะที่ภาคธุรกิจไม่ต้องทำข้อตกลงการรับชำระบิลกับธนาคารแต่ละแห่ง ช่วยให้ธุรกิจทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะนำร่องทดลองใช้งานได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 พบว่า ยอดโอนผ่านพร้อมเพย์ทั้งหมดทั้งหมดทะลุ 7.5 ล้านรายการ มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท จากผู้ลงทะเบียนบุคคลธรรมดา 28.3 ล้านราย นิติบุคคลมากกว่า 30,000 ราย

ทั้งนี้ ณ กลางเดือนพฤษภาคม มีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ เป็นนิติบุคคล จำนวนประมาณ 30,000 รายการ เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 28.3 ล้านรายการ ตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2560 จะมีผู้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ทั้งสิ้นมากกว่า 30 ล้านรายการ

นายปรีดี กล่าวว่า จากการเปิดบริการพร้อมเพย์มาไม่ถึง 4 เดือน ปริมาณธุรกรรมมีมากกว่าการเปิดให้บริการในบางประเทศในยุโรปมาถึง 2 ปี และที่น่ายินดีก็คือ ในประเทศไทยยังไม่พบลูกค้าร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยและความผิดพลาดของระบบพร้อมเพย์เลย

ดังนั้นทางสมาคม ฯ จึงเชื่อว่าลูกค้าจะมีความมั่นใจในการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และหวังให้บริการพร้อมเพย์เป็นทั้งบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยตอบสนองการทำธุรกรรมและชำระเงินที่สะดวกขึ้นทั้งกับประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และด้วยบริการใหม่ ๆ ที่จะออกให้บริการต่อยอดในอนาคต จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ความนิยมใช้งานพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นไปด้วย เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้เงินสด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดการเงินสดให้กับประเทศโดยภาพรวม และช่วยสนับสนุนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ