นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้แตกต่างจากปี 40 เพราะจากแหล่งเงินที่ใช้ไม่ได้เห็นการขยายตัวของสินเชื่อมากนัก และไม่พบมีการซื้อขายเก็งกำไร นอกจากนี้ ในส่วนของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินส่วนตัว ซึ่งเป็นเงินเย็นนำมาลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้ ในช่วงหลังทางสถาบันการเงินมีการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อีกทั้งมีการระทุนผ่านตลาดตลาดทุนมากขึ้นซึ่งทำให้มีต้นทุนการเงินต่ำ แม้ว่ามีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ระดมทุนในตลาดทุนแบบระยะสั้น เช่น การออกตั๋ว B/E ทำให้เกิดความไม่สมดุล ซึ่งเป็นความเปราะบาง แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะราย ไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาภาพรวมในเชิงระบบ
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และเป็นการขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า เช่นเดียวกับการขยายตัวการส่งออกประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย จึงสบายใจได้ว่าการส่งออกจะยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/59 จนถึงไตรมาส 1/60 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรและการเพิ่มขึ้นของปริมาณพืชผลการเกษตรที่ออกสู่ตลาด ภายหลังจากที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ถึงกับน่าเป็นห่วง เพราะปัญหานี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุน เช่น ธุรกิจด้านไอซีที และดิจิตอล เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งข้อสังเกตในใช้นโยบายการเงินของไทย นายวิรไท กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ประเทศสมาชิกของ IMF จะต้องมีการเข้ามาทบทวนภาวะเศรษฐกิจ และข้อมูลทุกปี เพื่อนำกลับไปรายงานคณะกรรมการ IMF นำกลับมาใช้เป็นแนวทางเสนอแนะการบริหารจัดการให้กับแต่ละประเทศ โดยข้อมูลที่ปรากฏออกมาเป็นข้อมูลที่มีการเก็บมาตั้งแต่ก่อนไตรมาส 1/60 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดี