นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.เตรียมรายงานความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในเมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน/ปี เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในปลายเดือนก.ค.นี้ หลังล่าสุดบมจ.ปตท. (PTT) ได้ส่งรายงานผลการศึกษามาให้แล้ว
ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ โดยจุดที่มีการเชื่อมท่อก๊าซธรรมชาติ เข้ากับคลัง LNG จะอยู่ที่บริเวณเมือง KANBAUK ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองทวาย ของเมียนมา หากดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะทำให้ไทยสามารถรับ LNG ได้จาก 2 ฝั่งทั้งฝั่งอ่าวไทย ทางภาคะวันออก ที่มีคลัง LNG อยู่แล้ว 1 แห่งในมาบตาพุด จ.ระยอง และฝั่งตะวันตกที่มี FSRU จากเมียนมา
อย่างไรก็ตาม โครงการ FSRU ในเมียนมานั้น ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ชัดเจน โดยต้องมีการเจรจาเรื่องการร่วมลงทุนกับรัฐบาลเมียนมา แม้โครงการนี้ ปตท.จะมีศักยภาพในการลงทุนเอง แต่หากรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมลงทุนด้วยก็จะทำให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนต่างชาติอีกหลายรายที่ให้ความสนใจลงทุนโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องเจรจาเรื่องค่าผ่านท่อก๊าซฯด้วย ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากทั้งสองเรื่อง ก่อนจะนำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมกพช.ต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวว่า ตามแผนดังกล่าวโครงการ FSRU ในเมียนมาจะสามารถดำเนินการได้ในปี 70 แต่เบื้องต้นรัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นเร็วกว่านั้น เพื่อรองรับวิกฤตก๊าซฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 64-66 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่แหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ 2 แห่งทั้งเอราวัณ และบงกช จะหมดอายุในช่วงปี 65-66
อย่างไรก็ตามทาง ปตท.แจ้งว่าจะสามารถเร่งโครงการให้เร็วขึ้นเป็นแล้วเสร็จในปี 66 ทำให้การพิจารณาดำเนินโครงการดังกล่าวต้องมีความรอบคอบมากขึ้น เพราะหากแล้วเสร็จในช่วงปี 66 ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นมาก เพราะในช่วงปี 65 ก็จะมีโครงการคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่หนองแฟบ จ.ระยอง เกิดขึ้นอีก 1 แห่ง ก็อาจจะทำให้ปริมาณการนำเข้า LNG อาจจะมากเกินความจำเป็น
ขณะที่การก่อสร้างส่วนขยายของคลัง LNG แห่งที่ 1 ในพื้นที่มาบตาพุด จาก 10 ล้านตัน/ปี เป็น 11.5 ล้านตัน/ปีนั้น เป็นแผนที่รัฐบาลอนุมัติให้ปตท.ดำเนินการแล้ว แต่ ปตท.ได้เสนอที่จะขยายคลังดังกล่าวเป็น 15 ล้านตัน/ปีนั้น ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปีนี้ก็ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ในปี 65 ก็จะมีคลัง LNG แห่งที่ 2 เพิ่มขึ้นมาอีก 7.5 ล้านตัน/ปี และก็จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ รวมถึงการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงด้วย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ให้มากเกินไป เพราะจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่อาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคตได้ คาดว่าเรื่องดังกล่าวจะต้องตัดสินใจภายในเดือนก.ย.-ต.ค.
อย่างไรก็ตามหากไม่เพิ่มการนำเข้า LNG ได้ ก็อาจจะพิจารณาแนวทางการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ในลาว ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา , โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ในเมียนมา เป็นต้น