นายวันชัย กล่าวว่า ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวจะมีการกำหนดมาตรการ ดังนี้ 1. จัดระบบการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนให้เป็นมาตรฐานเดียว และปรับมาตรฐานการรับรองเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน เช่น Round Table on Sustainable Palm Oil (RSPO) , Indonesia Sustainable Palm Oil (ISPO) และ Malaysia Sustainable Palm Oil (MSPO) ที่เดิมเป็นมาตรฐานความสมัครใจเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ และไม่ทำให้ผู้บริโภคสับสน
2.การตรวจสอบแหล่งผลิตย้อนกลับ เพื่อติดตามขั้นตอนการผลิตในทุกขั้นตอน 3.อัตราภาษีนำเข้าที่ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการผลิต โดยคิดรวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย และ 4.การลงทะเบียบการใช้พื้นที่เพาะปลูกและการใช้แรงงาน โดยที่มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศผู้ปลูกฯ และผู้ผลิตน้ำมันปาล์มมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับ การลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูก การควบคุมการขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งรัฐสภายุโรปจะเสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาดำเนินการออกกฎระเบียบต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตและการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันจะไม่มีผลต่อการทำลายระบบนิเวศน์ การทำลายป่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยในการมีส่วนร่วมในกระบวนการรับรองมาตรฐานฯ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเตรียมเข้าพบหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อนที่คณะกรรมาธิการฯ จะมีการออกกฎระเบียบต่อไป
นายวันชัย กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ จะติดตามความเคลื่อนไหวการกำหนดมาตรการดังกล่าวข้างต้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะประสานเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดได้อย่างทันท่วงที