สนพ.จัดแผนรับมือวิกฤตก๊าซฯปี 64-66 เล็งซื้อไฟน้ำเทิน 1-ไซยะบุรีจากลาวเพิ่ม,ซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อป

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday June 4, 2017 08:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซธรรมชาติปี 64-66 ที่เกิดจากความล่าช้าการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทย และความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าราว 1,700 เมกะวัตต์ (MW) ซื่งเบื้องต้นอาจจะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) รวมถึงการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติมจากสัญญาในช่วงสั้น ๆ สำหรับโครงการที่มีศักยภาพ ทั้งโครงการน้ำเทิน 1 ,ไซยะบุรี โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ราว 400-500 เมกะวัตต์ รวมถึงการเจรจาขอซื้อก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะสรุปแผนชัดเจนได้ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้

"อยากจะให้ได้ข้อสรุปชัดเจนภายในเดือนตุลาคมนี้ ที่ปตท.ขอขยายคลัง LNG แห่งที่ 1 จาก 11.5 ล้านตันเป็น 15 ล้านตันนั้น เป็นอะไรที่ถาวร เราไม่อยากทำอะไรที่เป็นถาวร เพื่อแก้ปัญหาในช่วงปี 64-66 เราอยากทำอะไรที่เป็นชั่วคราวน่าจะดีกว่า...รูฟท็อปเสรี ก็มีการนำเสนอในที่ประชุมกพช.ว่าจะให้การสนับสนุนประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกที"นายประเสริฐ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้บมจ.ปตท. (PTT) ได้เสนอแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับคลัง LNG แห่งที่ 1 เป็น 15 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ 11.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยรองรับวิกฤตก๊าซฯในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสภาวะวิกฤตก๊าซฯจะมุ่งเน้นไปที่การลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) ด้วยการส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในช่วงกลางวัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอการรับซื้อระดับ 1,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามกรณีนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะต้องหารือแนวทางการปฏิบัติรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบสำรองไฟฟ้า (Backup) เนื่องจากไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เสถียร รวมถึงการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ

"การซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าเป็นการเสรีทั่วไปก็ได้ และอีกส่วนหนึ่งเองก็สามารถส่งเสริมให้เอกชนผลิตและใช้เองหรือจำหน่ายที่เหลือเพราะโรงงานต่าง ๆ ขณะนี้เขาก็ใช้อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate) หรือ TOU ที่ค่าไฟเฉลี่ย 4 บาทต้น ๆ ต่อหน่วย หากเขาผลิตเองก็น่าจะได้ราว ๆ นี้แต่มีข้อถกเถียงที่ยังต้องการให้การไฟฟ้า มีระบบ Backup ด้วย ซึ่งจุดนี้ใครจะรับผิดชอบเพราะเป็นต้นทุนที่สุดท้ายประชาชนต้องจ่าย"นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับการเจรจาซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากลาวในโครงการเดิมที่มีอยู่ เบื้องต้นคาดว่าจะซื้อเพิ่มได้ราว 500-600 เมกะวัตต์ จากโครงการที่มีศักยภาพที่จะสามารถเพิ่มการส่งไฟฟ้ากลับมาไทยได้ คือ โครงการน้ำเทิน 1 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับไทย ซึ่งโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 65 แต่ก็มีแนวโน้มที่เร่งให้เสร็จในปี 64 โครงการไซยะบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 62 ขณะที่จีนก็ได้เสนอขายไฟราว 1,000 เมกะวัตต์เข้ามา แต่เห็นว่าค่อนข้างยากเนื่องจากจะต้องผ่านระบบสายส่งที่มีความยาวถึง 600 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังให้ความสนใจที่จะซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ที่พร้อมจะขายไฟให้ รวมถึงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน แต่ทางการไทยยังไม่ได้สรุปในประเด็นนี้ เพราะมุ่งไปที่การเจรจาเพื่อรับซื้อก๊าซฯในโครงการ JDA เพิ่มเติมเพื่อนำมารองรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 จังหวัดสงขลากำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเบื้องต้นมาเลเซียพร้อมจะส่งมายังไทยแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยอาจนำก๊าซฯจาก JDA ในส่วนของมาเลเซียมาส่งให้ไทย หรือเป็นการซื้อก๊าซฯจากแหล่งอื่นในมาเลเซีย

นายประเสิรฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประจำเดือนมิ.ย.60 ให้สอดคล้องกับต้นทุนราคาตลาดโลก โดยราคาตลาดโลกลดลงแต่คาดว่าคงจะไม่มากเท่ากับเดือนที่ผ่านมาซึ่งขึ้นอยู่กับว่าที่สุดกบง.จะเห็นชอบอย่างไร โดยขณะนี้ราคา LPG ขายปลีกอยู่ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม (กก.) รวมถึงจะมีการรายงานสถานการณ์ภาพรวมของสถานการณ์พลังงานด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ