CIMBT ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นโต 3.1% จากเดิมคาด -0.6% เล็งทบทวน GDP ปีนี้, ห่วงเอกชนยังไม่ลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2017 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 3.1% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ 0.6% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ที่มีความกังวลมากขึ้นหลังจากที่ครึ่งปีแรกยังไม่เห็นการลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งได้ปรับประมาณการการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ลดลงเป็นเติบโตเพียง 0.7% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 1.4% โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาการลงทุนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าภาครัฐจะลงทุนทางด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ โครงการขนาดใหญ่ก็ตาม แต่ภาคเอกชนยังไม่ลงทุนตาม และหันไปลงทุนในต่างประเทศแทน "เราขอรอดูตัวเลข GDP ไตรมาส 2/60 จากสภาพัฒน์ก่อนทบทวนประมาณการอีกครั้ง ซึ่งถ้าหาก GDP สภาพัฒน์ออกมาดีก็มีโอกาสปรับประมาณการปีนี้เพิ่มขึ้น โดยทางเรามองว่า GDP ไตรมาส 2/60 จะขยายตัวได้ 2.9% จากไตรมาส 1/60 ที่ 3.3% ส่วนทั้งปีนี้ยังคงอยู่ที่ 3.2%"นายอมรเทพ กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ซึ่งจะเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงปลายปีนี้ หลังคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีขึ้นอีก 2 ครั้งในกลางเดือนมิ.ย. และสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯเท่ากัน และจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ในช่วงปลายปีนี้

ส่วนค่าเงินบาทได้ปรับมุมมองค่าเงินบาทสิ้นปีเป็น 35.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมเมื่อเดือนธ.ค. 59 ที่ 37.00 บาท/ดอลลาร์ และ เดือนม.ค. 60 ที่ 36.00 บาท/ดอลลาร์ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 5% ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10% ในขณะที่ในมาเลเซีย และอินโดนีเซียมีสูงถึง 30-40%

เงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 1/60 มาจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนที่เคยออกไปในช่วงปลายปีก่อนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามา ทำให้บาทแข็งค่า อีกทั้งเฟดเองไม่ได้มีการส่งสัญญาณเร่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด นักลงทุนต่างชาติยังคงมองประเทศไทยมีเสถียรภาพการเงินดี ดังเห็นได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง จึงเข้ามาพักเงินและแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ทางเฟดคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณการเร่งการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า และจะทำให้นักลงทุนเตรียมโยกย้ายเงินลงทุนออก ทำให้บาทอ่อนค่าได้ในที่สุด นอกจากนี้ นักลงทุนควรจับสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทให้เป็นไปตามภูมิภาค เพราะการที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินภูมิภาคในช่วงนี้นับว่าไม่ปกติ และอาจมีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินโดยเฉพาะการลดการเข้าซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ หรือมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมเพื่อให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น