นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงโครงการปฎิรูปกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินในครั้งนี้ว่า จะช่วยเพิ่มความชัดเจน ความโปร่งใส และลดความซ้ำซ้อน โดยบางเรื่องเป็นการปรับเปลี่ยนหลักคิดของการทำงานภายใต้กรอบกฎหมายใหม่โดยให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงได้เสรีเพิ่มขึ้น ตามทแนวทางการบริหารกิจการและควบคุมภายในที่ธุรกิจเอกชนแต่ละแห่งกำหนดขึ้นเองภายใต้กรอบที่ธปท.กำหนด
นอกจากนี้ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินในรอบนี้ ยังครอบคลุมถึงการลดขั้นตอนยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น ผ่อนคลายให้เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อธปท. เพิ่มผู้เล่นในตลาดเงินตราต่างประเทศ และสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้เครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกคล่องตัว
ในการดำเนินการผ่อนคลายกฎเกณฑ์แลกเปลี่ยนเงิน ธปท.จะทยอยดำเนินการเป็นลำดับ หลายเรื่องมีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ และจะดำเนินการผ่อนคลายส่วนใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในปี 60 แต่อาจมีบางเรื่องที่ต้องใช้เวลา บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาดำเนินการถึงปี 61
"จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่า การผ่อนคลายในระยะแรกจะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนในส่วนที่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้มากกว่าพันล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก"
อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของธปท. โดยธปท.จะยังมีข้อมูลสำหรับติดตามและวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อประเมินผลกระทบต่อตลาดเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่คณะทำงานได้เห็นชอบร่วมกันแล้วแบ่งเป็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการใช้อิเล็กทรอนิกส์
2. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัวมากขึ้น
3. เพิ่มทางเลือกให้รายย่อยทำธุรกรรมผ่านผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค
4. เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยและเพิ่มผู้ให้บริการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน
ทั้งนี้ โครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (ease of doing business) โดย ธปท.ยังคงรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป
สำหรับแนวทางการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ในส่วนการลดขั้นตอนและเอกสาร ธปท.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์และลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ ที่มีผลภายในมิ.ย.60
1) ผ่อนคลายให้ชำระค่าสินค้าที่ไม่ได้นำเข้าหรือที่รับมอบในประเทศแก่บุคคลในต่างประเทศ จากปัจจุบันที่การโอนเงินออกนอกประเทศตั้งแต่ USD 50,000 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การชำระค่าสินค้าต้องเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือสั่งจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
(2) ลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ยกเลิกการแสดงงบการเงินและหนังสือชี้แจงรายละเอียด กรณีส่งเงินลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการที่ต่างประเทศ,ให้แสดงหลักฐานเงินนำเข้าอื่น เช่น credit advice แทนแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศในการโอนเงินเพื่อชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศ
จากปัจจุบันที่ การโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อการลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศ ต้องแสดงเอกสารงบการเงินของกิจการในต่างประเทศ หรือ กรณีชำระคืนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศต้องแสดงเอกสารการนำเงินกู้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ คือ สำเนาแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
(3) เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็น electronics หรือ email จากปัจจุบันที่ลูกค้าต้องยื่นเอกสารต้นฉบับ (hard copy) ประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศต่อธนาคารพาณิชย์
สำหรับแนวทางที่จะมีผลในไตรมาส 3 ปี 2560 ประกอบด้วย ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งยกเลิกข้อกำหนดในการประทับตราของธนาคารพาณิชย์ ลงบนเอกสารประกอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ จากปัจจุบัน การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศตั้งแต่ USD 50,000 ลูกค้าผู้ทำธุรกรรมต้องกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบเอกสารประกอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของลูกค้า และประทับตราของธนาคารพาณิชย์ลงบนเอกสาร
นอกจากนี้ ภายในสิ้น 2560 จะปรับระบบการแจ้งความประสงค์การลงทุนในต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ ธปท. เป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ และปรับระบบการออกหนังสืออนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการผ่านธนาคารพาณิชย์ ในรูป electronic แทน hard copy ด้านการยกเลิกและผ่อนคลายหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชน จะดำเนินการให้ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณีภายในไตรมาส 3 ปี 2560
จากปัจจุบันการยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกรณีค่าสินค้าบริการ เงินลงทุนโดยตรง เงินกู้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถทำได้เสรี กรณีอื่น เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ให้ยกเลิกได้ในกรณีที่มีจำนวนเงินต่ำกว่า USD 20,000
นอกจากนี้ ให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท.เป็นรายกรณี อีกทั้งอนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (pilot company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมต่อธนาคารพาณิชย์ ทั้งในวัน trade date และ settlement date
ด้านแนวทางเพื่อเพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย ได้ผ่อนคลายให้ให้ลูกค้าสามารถโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่าน Money Transfer Agent (MT) ได้ โดยมีผลมิ.ย.60 จากปัจจุบันสามารถให้บริการโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้1) การชำระค่าเลี้ยงดูครอบครัว 2) การท่องเที่ยว 3) การศึกษา 4) ค่าบริการรายย่อย
สำหรับแนวทางการเพิ่มวงเงินโอนออก จะดำเนินการภายในสิ้นปี 60 จากปัจจุบันสามารถโอนเงินออกนอกประเทศให้แก่ลูกค้าได้ไม่เกินวงเงิน 200,000 บาท ต่อรายลูกค้าต่อวัน
ขณะที่จะผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นขออนุญาต MT เช่น ทุนจดทะเบียน ภายในสิ้นปี 61 จากปัจจุบันผู้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจ MT ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และคุณสมบัติอื่นๆตามที่กำหนด
นอกจากนี้ ได้ผ่อนคลายให้ Money Changer (MC) ซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ หรือ MC ในต่างประเทศได้ในมิ.ย.60 และ ให้ MC สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าในรูปอิเล็กทรอนิกส์ สกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น e-money ได้ภายในสิ้นปี 61
ธปท.จะผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสกุลบาทให้แก่ (1) non-resident ที่เป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในประเทศไทย (2) non-resident ที่เป็นผู้ประกอบการที่จัดตั้งในประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง (GMS) เพื่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการอุตสาหกรรมในประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ภายในมิ.ย.60
ส่วนการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ประชาชน/บริษัทมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ได้แก่ ผ่อนคลายให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ ภายใต้วงเงินลงทุน (gross flow) ไม่เกิน USD 1 ล้าน ต่อรายต่อปี, การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ (FX license) แก่บริษัทหลักทรัพย์ โดยให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (quote FX) กับลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ลงทุนไทยและต่างชาติได้ ภายใต้ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (brokerage),
การเพิ่มประเภทตัวกลางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก หรือเทียบเท่า (full license) เช่น ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตราสารหนี้ (ประเภท ข) จัดการกองทุน (ประเภท ค) หน่วยลงทุน (ประเภท ง) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเภท ส.1) เป็นตัวกลางพาผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ และให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาด TFEX รายใหม่ๆ สามารถยื่นขอใบอนุญาตเป็น broker currency futures ได้ คาดดำเนินการได้สิ้นปี 60