นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทปรับแข็งค่าหลุดระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อช่วงบ่ายนั้นว่า เงินบาทในบางช่วงอาจจะมีการแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งประเด็นสำคัญมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์ต่างๆ ในสหรัฐ รวมทั้งสถานการณ์ด้านการเมืองของสหรัฐเอง ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ
ส่วนการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่ ธปท.ได้ประกาศออกมาวันนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำมาใช้ควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่จะมีผลกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตลาดได้คาดการณ์กันไปเอง ซึ่งในวัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้ว สิ่งที่ ธปท.ประกาศวันนี้เป็นการนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (Ease of doing business) โดยปรับปรุงให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางอย่างให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป "วันนี้เป็นเรื่องของความยากง่ายในการทำธุรกิจ ส่วนในเรื่องของมาตรการป้องปรามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราประกาศวันนี้ เพราะในเรื่องของการป้องปรามนั้นเราต้องดูเงินทุนไหลเข้า ไหลออกมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด มีความสมดุลเพียงใด และมีผลกระทบต่อการทำงานของตลาดเงินมากน้อยเพียงใด เรื่องมาตรการป้องปรามเป็นเรื่องที่เราต้องติดตาม และมีมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราประกาศในวันนี้แต่อย่างใด" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังเป็นการแข็งค่าไปตามทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และความความผันผวนของค่าเงินบาทถือว่ายังอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับความผันผวนของค่าเงินสกุลเงินอื่น
ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเรตของค่าเงินมากนัก เพราะการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะต้องมีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่าไปตามปัจจัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่วนหนึ่งมาจากกรณีของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมองว่าค่าเงินบาทในขณะนี้ยังสอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย