รมช.คลัง ยันกม.ภาษีสรรพสามิตใหม่ไม่เพิ่มภาระผู้ประกอบการจนเป็นเหตุให้ต้องกักตุนสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 7, 2017 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวในงานสัมมนา "พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ประชาชนได้อะไร?" ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 ก.ย.60 ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บจากการใช้ฐานหน้าโรงงานหรือสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ โดยยืนยันว่าภาระภาษีของผู้ประกอบการจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บได้มากขึ้นเองในอนาคต

ทั้งนี้การจัดเก็บรายได้ของประเทศในปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท มาจากการเก็บภาษีของกรมสรรพากร 70%, กรมสรรพสามิต 20% และที่เหลือเป็นการเก็บของกรมศุลกากรและหน่วยงานอื่นอีก 10% ซึ่งการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 70-80% ดูได้จากในปี 49 กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 2.74 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 กรมสรรพสามิตจัดเก็บเพิ่มขึ้น 5.1 แสนล้านบาท ส่วนปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติ( สนช.) มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีและกฎระเบียบ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนทั้งภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ พอใจกับ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้ให้โอกาสภาคเอกชนเข้าร่วมร่างกฎหมายตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบันการออกกฎหมายลูก 20-30 ฉบับ กรมสรรพสามิตก็ได้ให้ภาคเอกชนร่วมด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการจัดเก็บภาษีในภาคปฏิบัติ ทำให้การดำเนินการของภาคเอกชนเกิดความราบรื่นและต่อเนื่อง

ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาระภาษีของผู้ประกอบการในช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างการเก็บภาษีในอัตราเก่า และภาษีอัตราใหม่ ยังอยู่เท่าเดิม จึงไม่มีประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะกักตุนสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ