ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. 60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 76.0 จาก 77.0 ในเดือน เม.ย.60 ขระที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 64.3 จาก 65.4 ในเดือน เม.ย.60
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 70.9 จาก 71.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 92.7 จาก 94.0
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนพ.ค. 60 ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ธ.ค.59 โดยมีปัจจัยลบมาจากความกังวลเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน, ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย GDP ในไตรมาส 1/60 ขยายตัว 3.3% และคง GDP ปี 60 ไว้ที่ 3.5% ตามทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น, คระกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยที่ 1.5%, ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, การส่งออกในเดือนเม.ย.โต 8.49%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีที่ปรับลดลงดังกล่าวมาจาก 2 ปัจจัยหลักสำคัญ และให้น้ำหนักความสำคัญไว้เท่ากันที่ 50:50 โดยปัจจัยลบแรก มาจากความความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ซึ่งอาจเป็นภาวะเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนอีกปัจจัยลบที่มาควบคู่กัน คือ การปรับตัวลดลงของสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน ตลอดจนการทรงตัวอยู่ในระดับต่ำของราคาข้าว จึงส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดซึมตัวลง
“เหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยจาก feeling เรื่องเหตุระเบิดใน ร.พ.พระมงกุฎฯ ทำให้คนเริ่มห่วงเสถียรภาพการเมืองในอนาคต และตีความไปต่างๆ ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่มองว่าเป็นสถานการณ์ระยะสั้น ถ้าไม่มีเหตุซ้ำ เดือนหน้าความเชื่อมั่นน่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยจาก fact ที่ราคาพืชผลเกษตรที่ย่อตัวลงหลายรายการ ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อในต่างจังหวัดที่ยังไม่ฟื้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเร่งการลงทุนของภาครัฐให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศกาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูตจากซาอุดิอาระเบีย, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ว่า อาจทำให้การ์ตามีความจำเป็นจะต้องผลิตน้ำมันเพิ่มเติม เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการถูกตัดสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งทำให้การลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอาจจะทำไม่ได้ เป็นผลให้ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวต่ำ และส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ราคาปาล์มน้ำมัน, ยางพารา ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และจะทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีก 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงต้องติดตามกรณีของการ์ตาต่อไป และสถานการณ์นี้อาจเป็นความกังวลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควร
ส่วนกรณีของการ์ตาที่จะมีผลต่อประเทศไทยนั้น มองว่าผลกระทบคงจะไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากการ์ตาที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตกปีละประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมปีละประมาณ 30 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังการ์ตา ก็คิดเป็นปีละประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ
“กรณีของการ์ตาเชื่อว่าไม่ได้กระทบกับไทยมาก และไม่ได้กระทบต่อภาคเกษตร แต่อาจมีผลต่อภาคธุรกิจ ซึ่งวงเงินระดับหมื่นล้านบาท เชื่อว่าภาคธุรกิจจะปรับตัวได้ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาในเชิงลบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในแง่ของการท่องเที่ยว และการส่งออก แต่สถานการณ์ของการ์ตาจะมีผลต่อราคาน้ำมัน และมีผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคในตะวันออกกลาง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงให้มุมมองไว้ตามเดิม โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% ส่วนการส่งออก เติบโต 2-3% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังปรับตัวได้ไม่ดีนักในช่วงนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตลอดจนการสนับสนุนด้านการส่งออก และการท่องเที่ยวที่เป็นความจำเป็นต่อการช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจของไทย