นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมา โดยมีผู้บริหารธนาคารฯ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยและเมียนมา ตลอดจนผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ร่วมงาน ณ โรงแรมเซโดนา ย่างกุ้ง เมียนมา
รมว.คลัง กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง และมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น การที่ EXIM BANK เลือกที่มาเปิดสำนักงานผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง เมียนมา ซึ่งเป็นสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศแห่งแรกของ EXIM BANK สะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยให้กับเมียนมาในระยะต่อไป
นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกทางการเงินซึ่งเป็นภารกิจหลักของ EXIM BANK อยู่แล้ว ขอให้ EXIM BANK เป็นทูตมิตรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเมียนมาอีกตำแหน่งหนึ่ง กล่าวคือ เป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกประสานงานและการจับคู่ทางธุรกิจ และเชื่อว่าการเปิดสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศในวันนี้ เป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของประชาชนและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
"การเลือกมาเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนการพัฒนาภายใน CLMVT ให้มีการรวมกลุ่มและมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและเป็นแหล่งที่น่าลงทุนที่สุดในโลก พร้อมเชื่อว่า หากทางการเมียนมามีการปรับปรุงกฏระเบียบด้านการลงทุนมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ ที่แต่ละปีมีมูลค่าการค้าราว 6-7 พันล้านบาท"รมว.คลัง กล่าว
ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมามีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ดังนั้นหากทำให้เศรษฐกิจเมียนมาดีขึ้น จะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น และทำให้การส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
รมว.คลัง มองว่า EXIM BANK ต้องทำหน้าที่เป็นทูตทางเศรษฐกิจช่วยส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือกับนักลงทุนไทยได้รับความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเมียนมาถือเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทย และยังไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งการที่บางอุตสาหกรรมไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าแรงงานได้นั้น การจะเข้ามาลงทุนขยายธุรกิจไทยในเมียนมาก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี
สำหรับนโยบายในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ซึ่งจะเชื่อมโยงมายังประเทศเมียนมาด้วยนั้น รมว.คลัง ระบุว่า ได้มีการหารือในคณะกรรมการ EEC ให้มีการออกแบบมาตรการให้กับลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะต่อยอดการลงทุนไปยังเมียนมาให้ได้รับประโยชน์ด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินโดยตรงระหว่างไทยกับเมียนมา โดยไม่ต้องผ่านสกุลเงินอื่นนั้น นายอภิศักดิ์ ยอมรับว่า เคยมีการหารือในเรื่องนี้ แต่ทางการเมียนมายังไม่ตัดสินใจ ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยความพร้อมด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของค่าเงินของเมียนมาเอง อย่างไรก็ดี เชื่อว่า หากสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างกันได้โดยตรง น่าจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศมากกว่าที่จะต้องแลกเงินผ่านสกุลเงินอื่นที่เป็นตัวกลาง
ด้านนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากแผนแม่บท 10 ปี (2560-2570) ธนาคารฯ มีเป้าหมายเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยสอดคล้องกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) ธนาคารฯ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักประการหนึ่งที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนด้วยการสร้างความต้องการสินค้าและบริการของไทยในประเทศตลาดหลักและประเทศตลาดใหม่ (Market Maker) โดยเริ่มต้นจากการศึกษาในเชิงลึกถึงโอกาส ช่องทาง และอุปสรรคทางธุรกิจระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารฯ พบว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาจากความต้องการสินค้าและบริการของไทย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนของรัฐบาลเมียนมา ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากต้องการขยายธุรกิจการค้าการลงทุนเข้ามาในตลาดเมียนมา ณ เดือนเมษายน 2560 ไทยมีมูลค่าเงินลงทุนสะสมเท่ากับ 10.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 15.38 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในเมียนมา ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยไปเมียนมาก็ได้รับความนิยม เช่น เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์ สัตว์มีชีวิต สินแร่โลหะ และผักผลไม้จากเมียนมา
"วันนี้ EXIM BANK พร้อมแล้วที่จะเปิดสำนักงานผู้แทนแห่งแรกในย่างกุ้ง เมียนมา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ EXIM BANK เร่งขยายบทบาทในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย" นายพิศิษฐ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การเปิดสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมา จะเป็นก้าวแรกของธนาคารฯ ในการขยายบทบาทการส่งเสริมการค้าการลงทุนใน CLMV บนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของธนาคาร การสนับสนุนโครงการลงทุนในภูมิภาคมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารฯ ได้อนุมัติวงเงินให้แก่โครงการลงทุนในเมียนมาเป็นมูลค่ารวมกว่า 26,000 ล้านบาท อาทิ การสร้างสนามบินมัณฑะเลย์ การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและท่อก๊าซไทย-เมียนมา การให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาเมียนมาโดยซื้อสินค้าและบริการจากไทย การสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ อาทิ โรงงานผลิตน้ำตาล ยางในรถจักรยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาจำนวนกว่า 18 โครงการ ประมาณการมูลค่าโครงการรวม 700,000 ล้านบาท การดำเนินบทบาทของธนาคารฯ จะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงไปด้วยกันระหว่างทั้งสองประเทศ และเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศและภูมิภาคอื่นๆ
ทั้งนี้ EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้งจากธนาคารกลางเมียนมา (the Central Bank of Myanmar: CBM) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.60 พร้อมเปิดดำเนินงานสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเมียนมาแล้ววันนี้ กระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนในเมียนมา โดยให้คำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ จับคู่ทางธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทย ศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และจัดทำรายงานด้านการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย-เมียนมา และทำงานร่วมกันเป็นทีมไทยแลนด์
ในโอกาสนี้ นายพิศิษฐ์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายนี เพียว ลา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา (MFTB) โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นสักขีพยาน เพื่อสนับสนุนทางการเงินและแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อขยายช่องทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยและเมียนมา การพัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการให้สินเชื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนการชำระเงินระหว่างประเทศ
นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจมาลงทุนในประเทศเมียนมาจำนวน 1-2 หมื่นล้านบาท ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยในปีนี้ทางเมียนมามีแผนขยายการลงทุนมูลค่า 1-2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการด้านไฟฟ้า พลังงาน และการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันทางการเมียนมาอยู่ระหว่างการปรับปรุงและแก้ไขกฏระเบียบให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสผู้ประกอบการสามารถเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น
หลังจากนี้ธนาคารฯ เตรียมเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชาภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า หลังจากนั้นมีแผนเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศเวียดนามต่อไป
สำหรับการปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม CLMV นั้น ธนาคารฯ มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม CLMV ในปีนี้อีก 7-8 พันล้านบาท