รมว.คมนาคม เตรียมเสนอโครงการรถไฟ 3 เส้นทางให้ครม.พิจารณาในอีก 2 เดือน-รถไฟฟ้า 6 สายใน H2/60

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 9, 2017 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการรถไฟ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 เดือน

พร้อมกับเตรียมนำโครงการรถไฟฟ้าอีก 6 เส้นทาง เข้าครม.ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ สายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน, สายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ 2 เส้นทาง คือ ช่วงคูคต-ลำลูกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู และโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเชื่อมต่อท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

โดยในปีนี้กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าการนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางในกรุงเทพฯและปริมณฑลตามแผนแม่บท ฉบับที่ 1 จะสามารถทำได้ครบถ้วนภายในปีนี้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำแผนแม่บท ฉบับที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นโครงข่ายย่อยในเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลัก และเป็นการรองรับในช่วงที่เครือข่ายหลักมีปัญหาหรือเกิดเหุตขัดข้อง และช่วยให้การเชื่อมต่อสมบูรณ์ ประกอบกับมีเส้นทางที่หลากหลายให้ประชาชนได้เลือกใช้เดินทางเพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้นมีโครงการรถไฟฟ้า 2 สี ในแผนแม่บทฉบับที่ 2 คือ สายสีเงิน (ตลิ่งชัน-ชัยพฤกษ์) และสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) ซึ่งจะส่งต่อไปให้รัฐบาลในชุดต่อไปเดินหน้าต่อ

ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แนะให้ใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งการดำเนินงานของโครงการ ขณะนี้ความคืบหน้ายังอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือเกี่ยวกับแนวทางในการทำงานร่วมกัน รวมถึงเร่งให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเร่งรัดโครงการดังกล่าวร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และฝ่ายจีน เข้ามาเจรจาและร่วมมือกันผลักดัน ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่เได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าภายใน 3 เดือนจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น และจะเพิ่มเติมเส้นทางไปเชื่อมต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของพันธมิตรญี่ปุ่นที่มองเห็นโอกาส เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เป็นที่ตั้งโรงงานนอกเหนือจากพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จึงทำให้เป็นโอกาสที่จะสามารถศึกษาต่อยอดโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินได้ เพื่อให้มีการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม และคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาภายใน 3 เดือนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้โครงการลงทุนขนาดใหญ่สำหรับการลงทุนระบบคมนาคมของภาครัฐ ไม่รวมการลงทุนที่อยู่ในงบประมาณประจำปี มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท โดยมีระยะเวลาลงทุนจำนวน 8 ปี ตั้งแต่ปี 58-65 ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่าภายในปี 62 จะเห็นการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้อย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในช่วงปี 65-67 โดยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นการกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังจากปี 49 ที่ได้ลงทุนโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่

รมว.คมนาคม เชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมีการลงทุนตามภาครัฐ อีกทั้งการลงทุนโครงการคมนาคมจะทำให้การเดินทางของประชาชนในประเทศสะดวกสบายมากขึ้นและใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่น้อยลง ส่วนภาคการขนส่งจะมีตัวเลือกและรูปแบบในการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันการขนส่งของประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป๊นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก และช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในอนาคตลดลงต่ำกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 14% ของจีดีพี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ