ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะจับตาการส่งสัญญาณดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปี เตือนภาคการเงินรับมือความผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 12, 2017 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.75-1.00% สู่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบสี่ของปี 2560 ในวันที่ 13-14 มิ.ย.60 หลังพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้เฟดยังคงอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดคงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าตลาดการเงินจะมีการปรับตัวสอดคล้องกับความคาดหมายว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งสอดคล้องไปกับการส่งสัญญาณของเฟดที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า แต่คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ อาจจะส่งผลต่อการด เนินนโยบายในระยะต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจจะปรับเปลี่ยนท่าทีในการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ อย่างมีความระมัดระวังมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือน พ.ค.60 จะให้ภาพการฟื้นตัวที่ชะลอลงบ้าง โดยขยายตัวเพียง 1.38 แสนตำแหน่ง แต่ภาพรวมของพัฒนาการการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ โดยจำนวนผู้ว่างงานสหรัฐฯ ลดลดกว่า 7.7 แสนรายในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ที่ 4.3% อันบ่งชี้ถึงสภาวะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวใกล้ระดับเต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกัน รายได้ต่อชั่วโมงการทำงานก็ยังคงมีแนวโน้ม ปรับเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 รายได้ต่อชั่วโมงการทำงานปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 2.5% ทั้งนี้ ด้วยภาพรวมของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานที่ดี คงหนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในรอบการประชุมนี้

อย่างไรก็ดี จังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ อาจจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยขึ้นกับตัวแปรที่เฟดจะมีการส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีดังนี้

1. มุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อของเฟด ซึ่งหากพิจารณาถึงพัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่มี ทิศทางปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ ชะลอลงจากระดับ 1.7% ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 1.5% ในเดือนพ.ค. ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 5 ปี ข้างหน้าปรับลดลงจากระดับ 2.0% เหลือ 1.8% ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่เริ่มมีทิศทางปรับลดลง ทั้งนี้ หากพัฒนาการของเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับปัจจุบัน อาจจะส่งผลให้เฟดสามารถปรับเปลี่ยนจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไป โดยอาจจะเว้นระยะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ยาวนานขึ้นได้

2. มุมมองพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากความเสี่ยงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง การเจรจา Brexit ของสหราชอาณาจักรที่คงเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศสหรัฐฯ ที่อาจจะกระทบต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะเป็นประเด็นที่ส่งผลให้เฟดมีมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ลดลง

3. มุมมองอัตราดอกเบี้ย Dot-Plot รอบเดือนมิ.ย.นี้ ที่อาจจะยังไม่ได้ให้ภาพที่แตกต่างจากเดิมที่เฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

"ยังมีโอกาสที่เฟดจะคงคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3 ครั้งในปีนี้อยู่ แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้คงจะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด รวมถึงความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากนัก เนื่องจากเฟดมีการส่งสัญญาณดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เฟดส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปในเชิงระมัดระวังมากขึ้น อาจจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเกิดใหม่รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินประเทศเหล่านั้นปรับแข็งค่าขึ้น อันเป็นปัจจัยที่หลายๆ ประเทศในตลาดเกิดใหม่ อาจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ