นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมที่จะบูรณาการในการร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในสาขาเศรษฐกิจคิดเป็น 36.5% รองจากภาคขนส่ง และยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของประเทศไทย
“คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารและกำกับกิจการพลังงาน และทรัพยากร ปิโตรเลียมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรอ. และ พพ. ต่างมีภารกิจที่สามารถบูรณาการให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพพ. มีหน้าที่ดูแลด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนโดยเฉพาะในโรงงานและอาคารควบคุม ส่วนกรอ.เองก็มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน สถานประกอบการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงาน ความปลอดภัย สุขอนามัยในโรงงานจึงควรจะวางกรอบความร่วมมือกัน"นายประพนธ์ กล่าว
นายประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับกรอบความร่วมมือเพื่อบูรณาการการดำเนินงานดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ 2.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 3.ด้านระบบฐานข้อมูล 4.ด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 5.ด้านพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ คาดว่าผลที่เกิดขึ้นจากการ MOU ในครั้งนี้รวมแล้วทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE) และการใช้พลังงานทดแทน (RE ) คิดเป็น 1,264 kTOE (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 13,727 ล้านบาท/ปี ในด้านของการประหยัดพลังงาน 1,247 kTOE ต่อปี เทียบเท่าการประหยัดงบประมาณ 13,542 ล้านบาท /ปี โดยมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ ในโรงงานขนาดกลางและย่อม (EE-SME) 10 kTOE ต่อปี ,มาตรการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านหม้อไอน้ำและพัฒนาหม้อไอน้ำสู่ Smart Boiler ทั้งหมด 129 kTOE ต่อปี ปรับปรุง heat rate โรงไฟฟ้าชีวมวล 272 kTOE ต่อปี การจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code) 836 kTOE ต่อปี ในขณะที่ด้านพลังงานทดแทน มาจากการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นชีวมวล สามารถลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ 17 kTOE ต่อปี
อย่างไรก็ตามในปี 2560 ได้มีการร่วมมือกันระหว่าง พพ. และ กรอ. ในการดำเนินโครงการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานในระบบไอน้ำสำหรับโรงงานควบคุม และในอนาคตจะมีการร่วมมือกันในการดำเนินงานอีกหลายกิจกรรม เช่น การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) การเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำโดยวิศวกรด้านหม้อน้ำหรือวิศวกรพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล การยกระดับประสิทธิภาพพลังงานหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (Boiler efficiency for SME) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม และการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code)
โดยกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง พพ. และ กรอ. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม อย่างยั่งยืนต่อไป