นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ซึ่งในอดีตการบริหารจัดการแร่จะยึดตามกฏหมายฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งพ.ศ.2510 แต่ปัจจุบันการทำเหมืองแร่มีความซับซ้อนขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะจัดทำในเรื่องแผนแม่บท เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน และพิจารณาเรื่องของหินอุตสาหกรรมต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปูนซิเมนต์ หินก่อสร้าง การพัฒนาแร่โปแตชในประเทศไทย เรื่องแร่พลังงานทดแทน รวมถึงนโยบายเรื่องของแร่ทองคำ ซึ่งตัวกฏหมายใหม่จะมีความเข้มข้นกว่าเดิม และทำหน้าที่ศึกษาบทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต
ด้านนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบการบริหารจัดการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมี 4 ด้าน ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของชุมชน การขออนุญาต การกำกับดูแล และการให้ผลประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งจะนำไปปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำที่ จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัดนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการยังเป็นไปตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ห้ามให้บริษัทเข้าประกอบการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งก็ต่อเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้ข้อสรุปในการดำเนินการเสียก่อน โดยเบื้องต้นพบว่า การตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ข้อยุติแล้ว โดยในพื้นที่ตรวจสอบสารโลหะหนัก แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นสารที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองหรือไม่
ขณะที่รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากติดปัญหากรณีไม่มีข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชนในช่วงก่อนการทำเหมือง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้รับผิดชอบ อยู่ระหว่างดำเนินการหาทางออกต่อไป
ส่วนกรณีที่ บริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เตรียมดำเนินการฟ้องรัฐบาลกรณีที่มีคำสั่งมาตรา 44 ให้ยุติการทำเหมืองนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งจะมีการพูดคุยกับบริษัทคิงส์เกต ครั้งแรกในวันที่ 3 ก.ค.นี้ เพื่อรับฟังทางบริษัทว่ามีกรอบการเจรจาอย่างไรต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นเรื่องขอนำแร่ทองคำที่อยู่ในกระบวนการแต่งแร่ จำนวน 1.6 ตันออกมาจำหน่าย และขอเข้าไปกำจัดสารไซยาไนด์ที่ตกค้างอยู่ภายในโรงงาน ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปต่อไป