ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ระดับ 44.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเม.ย.60 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบในเดือนเม.ย.60 ที่ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นมากต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) หลังครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 55% ที่ทำการสำรวจมีการใช้จ่ายจริงมากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่โดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบร้อยละ 1.67% (MoM) ในเดือนพ.ค.60
สำหรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือน โดยผลสำรวจในเดือนพ.ค.60 ชี้ให้เห็นว่า 40.1% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 เป็นต้นมา (ม.ค.-พ.ค.) ซึ่ง 68.6% ของครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาจากการบริโภคล่วงเวลาของครัวเรือน อาทิ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (จำนำทอง จำนองบ้าน ฯลฯ) รวมไปถึงการกู้หนี้ยืมสินจากเพื่อนฝูง เป็นต้น ซึ่งน่าเป็นกังวลต่อภาพการบริโภคของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า หากครัวเรือนกลุ่มนี้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มนี้ราว 64% มีสัดส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้ในแต่ละเดือนมากกว่า 40%
ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนมองว่ายังไม่มีปัจจัยหรือมาตรการใหม่ๆ ที่เข้ามาส่งผลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ยังต้องติดตามหลายประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศในช่วงหน้าฝนที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของครัวเรือน สถานการณ์ราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นราคาผักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงราคาพลังงานในประเทศที่อาจจะผันผวนตามราคาในตลาดโลกหลังเกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง