นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มั่นใจว่าจะระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลได้หมดภายใน ส.ค.-ก.ย.นี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าระบายข้าวอย่างต่อเนื่องจากที่มีในสต็อก 8 ล้านตันปลายปี 59 จนถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาระบายไปแล้ว 5.13 ล้านตัน ยังเหลือข้าวในสต็อกอีกจำนวน 2.94 ล้านตันขณะนี้
ขณะที่การประมูลข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.2 ล้านตันในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ยังต้องรอผลการประมูลว่า จะประมูลข้าวได้เท่าไหร่
จากข้อมูลจนถึงเดือน พ.ค. ข้าวในกลุ่มที่ 1 สามารถบริโภคได้เหลืออีก 1.6 แสนตัน ประเภทที่ 2 ข้าวที่ไม่สามารถบริโภคได้แต่จะขายไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งจะนำมาเปิดประมูลในวันพรุ่งนี้ 2.2 ล้านตัน ส่วนประเภทที่ 3 ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการทั้งคนและสัตว์ (ข้าวเน่า) เหลืออีก 5 แสนตัน
"เดือนกรกฎาคมจะเปิดการประมูลอีกรอบ หลังจากนั้นจะรายงานคณะกรรมการ นบข. ว่าสุดท้ายเหลือจำนวนข้าวเท่าไหร่ แต่คิดว่าจะจบได้ในส.ค.-ก.ย.นี้ ไม่เหลือข้าวในสต็อก"
ด้านน.ส.วิบูลย์รักษ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวโลกขณะนี้ พบว่า ขณะนี้ปริมาณการผลิตลดลง การค้าและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งในราคาข้าวในขณะนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อนเดือนมี.ค.พบว่าราคาข้าวหอมมะลิไทย ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 715 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวหอมเวียดนามที่ 495 เหรียญต่อตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 438 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ข้าวขาวเวียดนามอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าราคาข้าวไทยจากนี้จนถึงสิ้นปีจะปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการเดินสายจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลระบายข้าวไปมากเนื่องจากหลายประเทศมีผลผลิตลดลงเนื่องจากเผชิญภัยธรรมชาติ จึงมีความจำเป็นต้องมีการนำเข้าข้าวมากขึ้น รวมถึงบางประเทศมีผลผลิตสำหรับบริโภคในประเทศไม่เพียงพอจึงต้องมีการนำเข้า เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และผลจากการที่รัฐบาลระบายข้าวในสต็อกออกไปมากนี้เองทำให้การกดทับราคาข้าวหายไป ส่งผลให้ราคาข้าวกลับสู่ภาวะปกติ
ส่วนเรื่องการส่งออกข้าวโลกจากเดือน ม.ค.-พ.ค.พบว่าอินเดียส่งออก 4.12 ล้านตัน ไทยส่งออก 4.05 ล้านตัน และเวียดนาม 2.17 ล้านตัน สำหรับแนวโน้มผู้นำเข้ามีการคาดการณ์จะมีการนำเข้าค่อนข้างมากทั้งในบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และ อิหร่าน
ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าหาตลาดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และการขายข้าวจากภาคเอกชน รวมถึงกิจกรรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการบริโภคข้าว การส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทย จากการจัดงานเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถือว่ามีสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกข้าว พร้อมกันนี้กรมการค้าต่างประเทศก็มีแผนในการพบประเทศผู้ซื้อ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอิหร่านด้วย
ปลัดพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม นบข.ยังได้มีการพิจารณาโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 กำหนดพื้นที่ 30 ล้านไร่ และจัดเตรียมงบประมาณ 1.8 พันล้านบาท โดยกำหนดอัตราเบี้ยประกันเท่ากันทุกพื้นที่การผลิต 90 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรจ่าย 36 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 54 บาทต่อไร่ โดยมีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงเวลาเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ และวงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า นบข.มีมติเห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 (ด้านการผลิต) ในโครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการผลิต เพื่อควบคุมปริมาณข้าวการผลิตให้สมดุลกับอุปสงค์ กำหนดพื้นที่เป้าหมายลดการปลูกข้าว 1.23 ล้านไร่ ประกอบด้วย 3 โครงการ 1.โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว กำหนดพื้นที่ 6.3 แสนไร่ 2.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 กำหนดพื้นที่ 4 แสนไร่ และ 3.โครงการการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 กำหนดพื้นที่ 2 แสนไร่