นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจง ข้อวิจารณ์เงื่อนไขการประกวดราคาในโครงการประมูลรถไฟทางคู่ ส่อล็อคสเปคไม่เปิดช่องให้ผู้รับเหมาทั่วไปยื่นประมูล เนื่องจากทีโออาร์ระบุผู้รับเหมาต้องผ่านงานก่อสร้างรถไฟ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 730 ล้านบาท โดยชี้แจงว่า ประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยในการระบุคุณสมบัติผู้จะเสนอราคา ทั้งที่ มติ ครม. ให้แยกงานโยธา ออกจากการวางราง เพราะเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนบริษัทรับเหมาทั่วไปก็ทำได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันนั้น การรถไฟฯ ได้เปิดประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 5 สายทาง ได้แบ่งงานก่อสร้างออกเป็นสัญญางานโยธา (งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟ รวมงานติดตั้งรางรถไฟ) จำนวน 10 สัญญา และสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 3 สัญญา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 7,305.26 ล้านบาท เป็นโครงการแรก เมื่อวันที่ 16 พ.ค.60
ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้ผลงานก่อสร้างทางรถไฟมีมูลค่าการก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 730 ล้านบาท หรือ ผลงานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟหรือรถไฟฟ้ามีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 560 ล้านบาทและผลงานติดตั้งระบบรางรถไฟหรือรถไฟฟ้ามีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 170 ล้านบาทนั้น เนื่องจากงานโครงการนี้เป็นการก่อสร้างทางรถไฟ จึงต้องกำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟมาก่อน ตามตัวอย่างเอกสารประกวดราคาของ กวพ. และตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร (กวพ) 1204/ว 11441 ลงวันที่ 28 พ.ย.39 ที่ระบุให้กำหนด “ผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้าง"
ทั้งนี้การรถไฟฯ ยังเปิดกว้างให้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันในการเสนอราคามากรายโดยกำหนดให้ใช้ผลงานก่อสร้างทางรถไฟเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่างาน ซึ่งลดลงจากในอดีตที่กำหนดผลงานร้อยละ 20-30 ของมูลค่างานตามสัญญา และยังอยู่ในหลักเกณฑ์ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 7914 ลงวันที่ 22 ก.ย. 43 ที่ให้กำหนดผลงานก่อสร้างได้ไม่เกินร้อยละ 50เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาล ใช้งบประมาณสูง หากเกิดความล่าช้าเนื่องจากผู้รับจ้างไม่มีผลงานหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดใช้งาน ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอย่างมาก
ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนใหม่ ที่กำหนดให้ใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักนั้น เป็นไปตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มี.ค.43 ที่กำหนดว่า “กรณีที่กิจการร่วมค้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยหลักการนิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา เว้นแต่กรณีที่กิจการร่วมค้าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคากับทางราชการและแสดงหลักฐานดังกล่าวมาพร้อมกับซองประกวดราคากิจการร่วมค้านั้น สามารถใช้ผลงานก่อสร้างของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียว เป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้"
อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณสมบัติด้านผลงานตามข้างต้น ส่งผลให้ 1) บริษัทในประเทศไทยเข้าร่วมเสนอราคาในฐานะนิติบุคคลไทยรายเดียวได้ไม่ต่ำกว่า 15 ราย 2)บริษัทต่างชาติเข้าร่วมเสนอราคาในลักษณะของกิจการร่วมค้าได้อีกหลายราย 3) บริษัทในประเทศไทยที่มีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ โดยไม่กำหนดมูลค่างาน หรือผลงานก่อสร้างงานโยธาที่มีมูลค่าการก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกิจการร่วมค้าได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ราย
การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และเปิดกว้างให้มีผู้เข้าแข่งขันได้มากราย มีความโปร่งใส ยุติธรรม และในขณะเดียวกันก็เป็นการรับประกันความสำเร็จของผลงานทั้งด้านคุณภาพและระยะเวลาก่อสร้าง