ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund กองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งกองที่ 1 ได้มีการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว 9 ราย วงเงินร่วม 300 ล้านบาท
“ครั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาร่วมผลักดันช่วยกันสนับสนุนภาคSMEs อย่างต่อเนื่องขณะที่ธนาคารออมสินซึ่งมีเครือข่ายสาขากว่า 1,057 แห่ง เป็นศักยภาพที่จะเข้าถึงผู้ประกอบการได้มาก นอกเหนือจากการให้สินเชื่อปกติของธนาคารฯ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังไม่รวมโครงการอีกมากมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาในภาคธุรกิจนี้ อาทิ โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ในแนวคิด ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง เวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจ เข้าร่วมประกวด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย"ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจภาค SMEs เป็นทิศทางการดำเนินงานของธนาคารฯ เป็น 1 ใน 6 ด้าน หลังจากเมื่อต้นปี 2559 ธนาคารออมสินได้นำเสนอโครงการ SMEs Startup Thailand เพื่อเป็นแนวทางจุดประกายให้ SMEs และ Startup ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนดำเนินธุรกิจบนความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายเล็ก รายย่อยได้เข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาศักยภาพ และมีตลาดค้าขาย ซึ่งในปี 2560 ธนาคารฯ ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 543 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,932 ล้านบาท ขณะที่SMEs Private Equity Trust Fund กองทุนที่ 1 มีการอนุมัติร่วมลงทุนไปแล้ว 6 ราย คิดเป็นวงเงิน 165 ล้านบาทและอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนเพิ่มอีก 3 ราย คิดเป็นวงเงิน 120 ล้านบาท และเพื่อให้ธนาคารออมสินได้อำนวยความสะดวกให้กลไกต่างๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วขึ้นจึงมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพิ่มสายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มี 3 ฝ่ายงานใหม่ ดูแลด้าน SMEs และ SMEs Startup โดยเฉพาะ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ฉับไว และถูกต้อง ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund กองที่ 2 และกองที่ 3 รวมวงเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ในครั้งนี้ หากรวมกองที่ 1 ที่จัดตั้งไปเมื่อปีที่ผ่านมา 500 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งหมดครบ 2,000 ล้านบาท ตามวงเงินที่ธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาลแล้ว
สำหรับการลงทุนของกองทุนดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ 1.SMEs ระยะเริ่มต้น (Start – up Stage) ที่มีศักยภาพสูง 2.SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตโดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 3.SMEs ที่เป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ และ 4.SMEs ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
ขณะที่นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพและพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ธุรกิจ Startup และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone"เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนสร้างโอกาสการเติบโต ที่ผ่านมา มีธุรกิจกลางและขนาดย่อมเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI แล้ว 162 บริษัท มูลค่าการระดมทุนประมาณ 99,057 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 23 บริษัทที่เติบโตจนย้ายเข้าไปซื้อขายใน SET ความร่วมมือกับธนาคารออมสินในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่อยู่ในระดับ Idea Stage ที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่สำคัญของ Startup เหล่านี้ คือ ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุน รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs Startup ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยได้มอบหมายธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างดีมาโดยตลลอดและเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน จำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่มีศักยภาพสูงหรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายเศรษฐกิจของประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ซึ่งธนาคารออมสินได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุนไปแล้ว 1 กองทุน วงเงิน 500 ล้านบาทและครั้งนี้จะเป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุนร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มเติมอีก 2 กองทุน วงเงิน 500 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท นับเป็นอีกครั้งของการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันนโยบายภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs Startup ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม