นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ได้เดินหน้าผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในระเบียบว่าด้วยการพัสดุในส่วนของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการตั้งงบประมาณได้ ดังนั้นคาดว่าในปีต่อไป หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ซึ่งสามารถนำยางพาราไปใช้เพื่อทำถนน ปูพื้น หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว จะเป็นโอกาสในการเพิ่มปริมาณการใช้ยาง และส่งเสริมการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด
ทั้งนี้ กยท.ได้นำร่องเดินหน้าร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่ผลิตยางล้อ นั่นคือ “ดีสโตน” ซึ่งเป็นแบรนด์ยางล้อของไทยที่ส่งขายทั่วโลก ทั้งในแถบเอเชียและยุโรป ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำผลผลิตจากยางพาราไปแปรรูปเป็นส่วนประกอบรถยนต์ประเภทต่างๆ มากที่สุด ภายใต้แบรนด์ THAI-TYRE เป็นโครงการยางล้อประชารัฐ ที่ผลิตจากวัตถุดิบชั้นเยี่ยมของชาวสวนยางไทย ผลิตจากบริษัทคนไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพสากล และเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่เกิดจากการบูรณาการจากองค์กร 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคเกษตรกร ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 48,000 กิโลกรัม
“อย่างไรก็ตาม ยังมีผลิตภัณฑ์ หรือธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยางพาราของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น หากทุกภาคส่วน ร่วมกันใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นโดยปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการแสดงให้ผู้ซื้อและนานาประเทศ เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและผลผลิตยางพาราของไทยมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติต่อไป”