(เพิ่มเติม) "สมคิด"มอบคลัง-ธปท.ร่วมมือพัฒนาพร้อมลดข้อจำกัด"ฟินเทค"มุ่งยกระดับเป็นฮับในกลุ่ม CLMV

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 14, 2017 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน "ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0"ว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ 4.0 จำเป็นต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมผู้ประกอบการและทำให้สตาร์ทอัพใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิตอล ซึ่งการพัฒนาระบบการเงินด้วยเทคโนโลยี (ฟินเทค) ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และยังมีข้อจำกัดแต่จำเป็นต้องพัฒนา

นายสมคิด กล่าวว่า การพัฒนาด้านฟินเทคถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องร่วมมือกัน โดยกระทรวงการคลังต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ส่วน ธปท.จะต้องผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฟินเทค โดยไม่จำเป็นต้องไปปรับปรุงกฏหมายใหม่ แต่ต้องศึกษากฎระเบียบการเงินที่มีความเหมาะสมของฟินเทคภาคการเงินไทย โดยให้นำการศึกษาจากต่างประเทศมาปรับปรุงให้เข้ากับระบบการเงินไทย

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาฟินเทค คือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่เพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน จนก้าวเข้าสู่เงินในรูปแบบดิจิตอลในอนาคต พร้อมทั้งต้องมีการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กเดต้า ให้เข้าถึงข้อมูลขอผู้ใช้งาน และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาฟินเทคจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศหรืออิโคซิสเต็มทางการเงิน ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญทางการเงินให้เข้าใจฟินเทคให้มากขึ้น และธนาคารต่างๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเองเข้าสู่ฟินเทคและต้องหาแนวทางในการป้องกันผลประโยชน์ให้กับประชาชนไม่ให้ถูกหลอกด้วย

และ นอกจากการพัฒนาระบบฟินเทคในประเทศแล้ว ยังต้องพยายามยกระดับของฟินเทค เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฮับด้านฟินเทคในกลุ่ม CLMVT ด้วย

นายสมคิด ยังกล่าวถึงการผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีนที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ครม.-คสช.เมื่อวานนี้ว่า ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อตัวโครงการ แต่อาจมีอุปสรรคบางจุด ซึ่งทั้งหมดจะแก้ด้วยการใช้มาตรา 44

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ"การกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0" โดยระบุว่า ประเทศไทย 4.0 หมายถึงการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะช่วยส่งเสริมผลิตภาพการผลิตให้แก่ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น การซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและทำให้ระบบการเงินการธนาคารแบบเดิมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการเงิน

สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลก็ต้องปรับตัวและก้าวให้ทันยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0 นั้น หมายถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 เป้าหมาย คือ 1.เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน 2.เพื่อลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสให้กับภาคส่วนอื่น 3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความโปร่งใสทางการคลัง

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงมุ่งพัฒนาปรับปรุงการกำกับดูแลการเงินการคลังที่สอดคล้องกับยุค 4.0 เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และสร้างความมั่นคงในระบบการบริหารจัดการการเงินการคลัง ซึ่งการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและสมดุลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ