นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน "ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0"ว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ 4.0 จำเป็นต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมผู้ประกอบการและทำให้สตาร์ทอัพใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิตอล ซึ่งการพัฒนาระบบการเงินด้วยเทคโนโลยี (ฟินเทค) ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และยังมีข้อจำกัดแต่จำเป็นต้องพัฒนา
นายสมคิด กล่าวว่า การพัฒนาด้านฟินเทคถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องร่วมมือกัน โดยกระทรวงการคลังต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ส่วน ธปท.จะต้องผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฟินเทค โดยไม่จำเป็นต้องไปปรับปรุงกฏหมายใหม่ แต่ต้องศึกษากฎระเบียบการเงินที่มีความเหมาะสมของฟินเทคภาคการเงินไทย โดยให้นำการศึกษาจากต่างประเทศมาปรับปรุงให้เข้ากับระบบการเงินไทย
ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาฟินเทค คือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่เพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน จนก้าวเข้าสู่เงินในรูปแบบดิจิตอลในอนาคต พร้อมทั้งต้องมีการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กเดต้า ให้เข้าถึงข้อมูลขอผู้ใช้งาน และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการได้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาฟินเทคจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศหรืออิโคซิสเต็มทางการเงิน ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญทางการเงินให้เข้าใจฟินเทคให้มากขึ้น และธนาคารต่างๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเองเข้าสู่ฟินเทคและต้องหาแนวทางในการป้องกันผลประโยชน์ให้กับประชาชนไม่ให้ถูกหลอกด้วย
และ นอกจากการพัฒนาระบบฟินเทคในประเทศแล้ว ยังต้องพยายามยกระดับของฟินเทค เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฮับด้านฟินเทคในกลุ่ม CLMVT ด้วย
นายสมคิด ยังกล่าวถึงการผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีนที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ครม.-คสช.เมื่อวานนี้ว่า ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อตัวโครงการ แต่อาจมีอุปสรรคบางจุด ซึ่งทั้งหมดจะแก้ด้วยการใช้มาตรา 44
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ"การกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0" โดยระบุว่า ประเทศไทย 4.0 หมายถึงการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะช่วยส่งเสริมผลิตภาพการผลิตให้แก่ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น การซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและทำให้ระบบการเงินการธนาคารแบบเดิมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการเงิน
สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลก็ต้องปรับตัวและก้าวให้ทันยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0 นั้น หมายถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 3 เป้าหมาย คือ 1.เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน 2.เพื่อลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสให้กับภาคส่วนอื่น 3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความโปร่งใสทางการคลัง
รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงมุ่งพัฒนาปรับปรุงการกำกับดูแลการเงินการคลังที่สอดคล้องกับยุค 4.0 เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และสร้างความมั่นคงในระบบการบริหารจัดการการเงินการคลัง ซึ่งการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและสมดุลต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมเป็นหน่วยงานที่จะประสานความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกในเรื่องฟินเทค โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังติดขัด ก็ขอให้แจ้งเข้ามาเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ทันที เพราะมองว่าสิ่งใดที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าได้ดีขึ้นก็เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันผลักดันให้ก้าวต่อไป ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันโดยมี ธปท.เป็นหลัก
“หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมาก็ค่อนข้างมั่นใจในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือ แต่ก็มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้ ธปท.นำไปพิจารณาว่าจะต้องเป็นอะไรที่เกิดประโยชน์มั่นคงกับผู้ใช้ และจะไม่เป็นการสร้างปัญหาในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.เองก็มีมาตรการส่งเสริมและผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก เรื่องเทคโนโลยีทางการเงินเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเร็ว และเมื่อเกิดแล้วก็หยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุดเราก็จะอยู่ข้างหลังคนอื่นทันที นั่นหมายถึงสิ่งที่เราทำมาจะเสียเปล่า ดังนั้นเมื่อหยุดไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยทำได้ เพราะเรามีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีคนหัวคิดทันสมัยที่จะสามารถคิดอะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาได้" รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงเทคโนโลยีสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัล (Bitcoin) ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ และยอมรับว่าอาจมีบางประเทศที่ยอมรับและมีการชำระค่าบริการต่าง ๆ ในรูปแบบ Bitcoin กันแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยเองเรื่องนี้ยังไม่มีมีกฎหมายรองรับ และยังไมเป็นที่ยอมรับ
"เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากว่า Bitcoin เป็นเรื่องที่กฎหมายหรือไม่ โดยอาจจะต้องรอดูในระยะต่อไปว่าไทยจะมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็ยอมรับว่าเทคโนโลยีสกุลเงินในรูปแบบทันสมัยนี้เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีได้ดี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุม และบริการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก"นายอภิศักดิ์ กล่าว