นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "บทบาทของภาคการเงินไทยสำหรับอนาคต" โดยระบุว่า เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับภาคการเงินไทยและภาคการเงินโลกในอนาคต โดยมองว่า Fintech จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภาคการเงินได้ใน 5 มิติ กล่าวคือ
มิติแรก ทำให้บทบาทในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางของสถาบันการเงินระหว่างผู้ที่มีเงินออมกับผู้ที่ต้องการเงินลดลง เนื่องจากจะมีการให้บริการปล่อยกู้แบบ P to P ได้โดยตรงระหว่างผู้ที่มีเงินออมกับผู้ที่ต้องการเงินโดยที่ไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ตลอดจนบริการชำระเงินรูปแบบใหม่ เช่น E-wallet ที่ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Fintech สามารถลดความสำคัญในการเป็นตัวกลางของสถาบันการเงินลงได้
มิติที่สอง ระบบทะเบียนกลางของภาคการเงินจะถูกทดแทนด้วยระบบทะเบียนแบบกระจายตัว ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องรอตรวจเช็คข้อมูลจากระบบทะเบียนกลางหรือศูนย์ข้อมูลกลาง แต่ข้อมูลที่สำคัญจะกระจายลงไปยังแต่ละที่ ซึ่งช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานให้มีความโปร่งใสมากขึ้น และลดการทำงานในหลายขั้นตอนลงได้
มิติที่สาม Smart Phone จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสามารถเชื่อมต่อการบริการทางการเงินกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างสะดวกและไร้พรมแดน ซึ่งในอนาคตการเปิดสาขา และการให้บริการตู้ ATM จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ
มิติที่สี่ พรมแดนของประเทศจะมีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสามารถทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้นภายในเวลาเสี้ยววินาที ช่วยสร้างทางเลือกให้ภาคธุรกิจและประชาชนในด้านการออมเงิน หรือระดมทุนระหว่างประเทศได้มากขึ้น
มิติที่ห้า ข้อมูลรายธุรกรรม หรือ Big Data จะมีความสำคัญมากขึ้นในภาคการเงิน เนื่องจากจะเป็นฐานรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนทางการเงิน, การบริหารความเสี่ยง ซึ่งฐานข้อมูลนี้ถือเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อโลกการเงินในยุคใหม่
นายวิรไท ยังกล่าวถึงบทบาทของ Fintech ที่จะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศว่า เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจและสังคมโลกต้องเผชิญกับ 4 ภาวะที่สำคัญ คือ ความผันผวน, ความไม่แน่นอน, ความซับซ้อน และการยากต่อการคาดเดา ดังนั้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยภาคการเงินจะมีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญของภาคการเงินที่จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้นั้น จะต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ 2.ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจ ลดการเกิดความเปราะบางที่อาจจะเกิดจากวิกฤตในอนาคต และ 3.ต้องมีบทบาทในการกระจายผลประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง ซึ่ง Fintech จะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคการเงิน
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวด้วยว่า การจะใช้ Fintech ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่จะต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้รองรับกับการทำงานในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเองจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนมากขึ้น โดยในส่วนของ ธปท.ได้เปิดให้มีศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน (Regulatory Sandbox) เพื่อใช้เป็นสนามทดสอบก่อนให้บริการจริงแก่ผู้บริโภค ซึ่งล่าสุดในเดือน พ.ค.ได้อนุญาตไปแล้ว 1 โครงการ และภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะมีเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีการปรับกระบวนการทำงานให้ทันกับโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินให้มีความทันสมัย และทันต่อรูปแบบการบริหารธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น
"Digital Technology กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก ในขณะที่ Fintech จะพลิกโฉมการเงินโลกในทุกมิติ เราไม่สามารถชะลอกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราต้องก้าวให้ทัน และให้ภาคการเงินของไทยมีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว