นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาได้ออกประกาศและมีผลเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ทาง รฟท.ได้ส่งเรื่องโครงการดังกล่าวไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอร่างสัญญาความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจากนั้นจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในเดือน ก.ค. คาดว่าภายใน 120 วันหลังจากนี้รัฐบาลไทยจะลงนามสัญญากับรัฐบาลจีน 2 สัญญาแรก ได้แก่ สัญญาการออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และ สัญญางานที่ปรึกษาการควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา
ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกบุคคลากรนั้น จะมีการลงนามหลังจาก 2 สัญญาแรก เนื่องจากจะต้องหารือกันในรายละเอียด เพราะทางจีนจะเป็นผู้วางระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ และจัดหารถไฟฟ้า
"งานนี้เป็นงานที่รัฐบาลเร่ง หลังจากนี้จะเตรียมงานให้มีการลงนามสัญญาจ้างทางจีนออกแบบ และควบคุมงานให้เร็วที่สุด ซึ่งคำสั่ง คสช.ให้กรอบเวลา 120 วัน"นายอานนท์ กล่าว
นายอานนท์ กล่าวว่า ขณะที่งานรับเหมาก่อสร้างฐานรากตลอดระยะทางของรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาจะเปิดประมูลให้ผู้รับเหมาไทยเป็นผู้เดำเนินการ โดยคาดว่าในช่วง 120 วันนี้น่าจะออกประกาศเปิดประมูลเส้นทางในช่วงแรกระยะทาง 3.5 กม.ก่อน ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก เพราะได้ดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วคงจะใช้เวลาไม่นาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มาตรฐานการออกแบบของจีนที่อิงกับมาตรฐานยุโรป ขณะที่ของไทยใช้มาตรฐานสหรัฐ ดังนั้น จะมีการปรับวิธีการทำงานให้ใกล้เคียงกันเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะงานออกแบบ และวิธีทดสอบวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งจากเดิมมีการใช้หน่วยวัดไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรของจีนนั้น ทางไทยจะจัดให้การมีการทดสอลบและอบรมเพื่อให้รู้พื้นฐานงานก่อสร้างในไทย
อนึ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. กำหนดวงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท